ครุพัน : สหัสวัตถุศักดิ์สิทธิ์กับบทบาทหน้าที่ในวัฒนธรรมอีสาน

สุทธินันท์ ศรีอ่อน (อาจารย์ ดร. ประจำสาขาและวรรณคดีตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

 

ครุพัน : สหัสวัตถุศักดิ์สิทธิ์กับบทบาทหน้าที่ในวัฒนธรรมอีสาน

 

 

ครุพัน คือ วัตถุศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาอีสานกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ดเกือบทุกวัดจำเป็นต้องมีวัตถุดังกล่าว เดิมครุพันสร้างขึ้นเพื่อบรรจุเครื่องร้อยเครื่องพัน เช่น ดอกบัวต่างๆ หมากพัน พลูพัน ดอกไม้นานาพรรณ บุหรี่พันมวน เป็นต้น ครุพันถูกสร้างขึ้นใช้ในพิธี และประเพณีบุญเทศน์มหาชาติเดือนสี่ ตามคติของชาวบ้านเพื่อเป็นเครื่องบูชาคาถา 1000 พระคาถา ในเทศกาลเทศน์มหาชาติ หรือบุญผะเหวด ในอีสานกลางจำเป็นต้องตั้งครุพันไว้ในพิธี 1 อัน 1 คู่ หรือ 2 คู่ เมื่อเสร็จงานบุญแล้ว ทุกวัดมักนำไปไว้ที่โต๊ะหมู่บูชา ต่อมาวัตถุดังกล่าวได้ดำรงอยู่ และมีหน้าที่สำคัญในฐานะเครื่องป้องกันอุปทวันตรายในพิธีกรรมของชาวอีสาน ทั้งบุญพิธีงานระดับครอบครัว เช่น สวดมนต์เย็นงานเฮือนดี ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น รวมถึงบุญพิธีงานระดับชุมชน เช่น บุญข้าวจี่ งานบุญคุ้มหรือบุญเบิกบ้าน งานบุญบั้งไฟ เป็นต้น บทบาทหน้าที่ที่สำคัญของครุพันคือ เป็นเครื่องต้านทานและป้องกันอันตรายที่อาจมีขึ้นในพิธี และมีไว้เพื่อป้องกันอัปมงคลอื่นๆ ที่จะบังเกิดขึ้นขณะทำพิธี

 

ประเด็นสำคัญครุพันมีหน้าที่แทนเครื่องร้อยเครื่องพันในงานบุญเดือนสี่เทศน์มหาชาติ ในปีที่ไม่สามารถจะเครื่องบูชาคาถาพันอย่างอื่น เช่น ดอกไม้ หมาก พลู ดอกบัว ดอกสะแบง หรือเครื่องพันได้ จะต้องตั้งครุพันไว้ในพิธีถือว่าได้ทำการบูชาครบถ้วนแล้ว ประเด็นสำคัญนอกจากครุพันจะทำหน้าที่เป็นอารักษ์วัตถุในพิธีแล้ว ครุพันยังได้รับความเคารพนับถือไม่ต่างจากพระอุปคุต หรือพระสงฆ์ทั่วไป เพราะปรากฏว่าตำแหน่งสำหรับตั้งครุพันมักจะเป็นโต๊ะหมู่บูชาร่วมกับพระพุทธรูป หากแต่ต่ำกว่าพระพุทธรูป อีกทั้งยังมักได้รับการเก็บรักษาไว้บริเวณอาสน์สงฆ์สำหรับเจ้าอาวาส ดังนั้น ครุพันในวัฒนธรรมอีสานจึงไม่ใช่เพียงวัตถุในพิธีทั่วไป หากแต่เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ที่มีบทบาทหน้าที่ เช่นเดียวกับพระอุปคุตที่จะต้องได้รับการเชิญมาในพิธี และมีสถานะเช่นเดียวกับพระสงฆ์ที่มีอายุพรรษาเช่นเจ้าอาวาส และมีสถานะเป็นเช่นเดียวกับพระเครื่องหรือของมงคล

 

คำสำคัญ: วัตถุศักดิ์สิทธิ์, บทบาทหน้าที่, พระอุปคุต

 

 

(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 13 ฉบับที่ 2)