เกมกลอน : กิจกรรมการเรียนรู้ร้อยกรองที่มากกว่าความสนุก

ชวิน พงษ์ผจญ (อาจารย์ ประจำสาขาวิชาการสอนภาษาไทย ภาควิชาหลักสูตรและการสอน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

 

เกมกลอน : กิจกรรมการเรียนรู้ร้อยกรอง

 

บทความนี้ มุ่งศึกษาเกมกลอนที่ยังคงเล่นกันอยู่ในวงการแข่งขันร้อยกรอง และนำเสนอแนวทางในการประยุกต์ใช้เกมกลอนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร้อยกรอง จากผลการศึกษาพบว่า เกมกลอนที่นักกลอนยังคงนิยมเล่นกันอยู่นั้นมี 3 ประเภท คือ 1) ปริศนาผะหมี 2) กลอนมืด และ 3) กลอนจอหงวน โดยเกมกลอนเหล่านี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร้อยกรองตามแนวทาง 7 ขั้นตอน ได้แก่ ศึกษาฉันทลักษณ์ รู้จักเกมกลอน เลือกก่อนรังสรรค์ ประพันธ์ผลงาน วิจารณ์ปรับแก้ สนุกแท้เล่นกัน และแบ่งปันประสบการณ์ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวทางข้างต้นนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้สอน และผู้เรียน กล่าวคือ ผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อตัวชี้วัดและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ทั้งยังตอบสนองต่อการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการภายในกลุ่มสาระ ขณะที่ผู้เรียนมีโอกาสแสดงความคิด และมีตัวเลือกที่หลากหลายในการเรียนรู้ และการสร้างงาน ตลอดจนได้พัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นทักษะสำคัญของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ไปพร้อมกัน

 

คำสำคัญ: เกมกลอน; ผะหมี; กลอนมืด; กลอนจอหงวน; การแต่งคำประพันธ์; การจัดการเรียนรู้ภาษาไทย
(ตีพิมพ์ใน วารสารไทยศึกษา ปีที่ 13 ฉบับที่ 2)