กฐินของคนไทยในยุคใหม่

วันที่ออกอากาศ: 12 ตุลาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การทอดกฐิน เป็นประเพณีที่สืบสานกันมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นประเพณีพิธีกรรมทางพุทธศาสนาที่ยังคงมีความสำคัญและยึดถือปฏิบัติกันในสังคมไทยมาจนถึงปัจจุบัน

 

หากพิจาณาในเชิงประวัติศาสตร์ประเพณีทอดกฐินน่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาในชมพูทวีปโดยเฉพาะในแคว้นมคธเป็นที่มั่นคงแล้ว ทำให้มีผู้บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนามากขึ้นจนเกิดเป็นชุมนุมสงฆ์ เกิดเป็นอารามที่อยู่ของสงฆ์ในท้องถิ่นต่างๆ มากขึ้น

 

จากพระสูตรต่างๆ ในพระพุทธศาสนาทำให้เราทราบว่า ผ้านุ่ง ผ้าห่มของพระสงฆ์เป็นของหายากที่สำคัญในครั้งพุทธกาล อันนำมาสู่ธรรมเนียมที่พุทธศาสนิกชนนำผ้าใหม่สำหรับนุ่งห่มไปถวายพระสงฆ์ แต่การถวายให้แก่พระสงฆ์ทั้งอารามนั้นคงเป็นเรื่องยาก จึงเกิดเป็นธรรมเนียมของการถวายผ้านุ่มแค่ชุมเดียว แล้วพระสงฆ์ในชุมนุมรับนำไปทำพิธีเพื่อประชุมมอบแก่พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งตามสมควร

 

กล่าวได้ว่าเป็นรากเง้าของประเพณีทอดกฐินในพระพุทธศาสนา ซึ่งปัจจุบันหัวใจสำคัญของพิธีกรรมก็ยังคงอยู่ที่การถวายผ้ากฐิน แต่อาจมีการถวายปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมาที่เรียกว่า บริวารกฐิน หรือ เครื่องไทยธรรม

 

กฐินเป็นเรื่องที่ฝ่ายฆราวาสและฝ่ายสงฆ์ต้องปฏิบัติร่วมกัน ทางฝ่ายสงฆ์ต้องพึ่งฝ่ายฆราวาสนำกฐินมาถวายในชุมนุมสงฆ์ภายใน 1 เดือนนับจากวันออกพรรษา หากพ้นกำหนดแล้วชุมนุมสงฆ์ใดยังไม่ได้รับกฐินก็ถือว่าขาดอนิสงฆ์กฐิน จะทำกิจสิ่งใดต่างๆ ที่ระบุไว้ในพระธรรมวินัยก็ลำบาก

 

แม้กระทั่งในปัจจุบันช่วงใกล้จะสิ้นสุดกฐินกาลทางวัดต่างๆ จะเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อหาเจ้าภาพถวายกฐิน ซึ่งคนไทยก็มักกระตือรือล้นรับเป็นเจ้าภาพเนื่องจากความเชื่อที่ว่าทำบุญให้แก่วัดที่ค้างกฐินจะได้กุศลมาก

 

การทอดกฐินยังเป็นประเพณีที่ต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจกัน ถือเป็นงานบุญใหญ่ประจำปีของชุมชน โดยมากไม่อาจสำเร็จได้ด้วยปัจเจกบุคคล และการร่วมแรงร่วมใจนี้ก็นำมาซึ่งประโยชน์แก่ฝ่ายสงฆ์ที่ได้รับปัจจัยต่างๆ ในการทำนุบำรุงเสนาสนะและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในวัด

 

แม้ว่าหัวใจของการทอดกฐินคือพิธีถวายผ้ากฐิน แต่ต้องยอมรับว่าปัจจัยด้านทุนทรัพย์ถือว่ามีความจำเป็นต่อวัดและชุมชนมากขึ้นในปัจจุบัน แม้กระทั่งวัดในชนบทที่มีผู้ไปทำบุญปฏิบัติธรรมมากขึ้นก็ยิ่งต้องการถาวรวัตถุสำหรับใช้เป็นสถานที่ให้ญาติโยมไปปฏิบัติธรรม

 

รวมถึงการจ่ายค่าสาธาณูปโภคต่างๆ หรือแม้แต่โครงการอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ถาวรวัตถุภายในวัด อาทิ โครงการให้การศึกษาสำหรับภิกษุ สามเณร หรือโครงการช่วยเหลือชุมชนอื่นๆ ที่เกิดจากดำริของฝ่ายสงฆ์ ก็จำเป็นต้องใช้เงินทุนมากขึ้น

 

ดังนั้น ในปัจจุบันการทอดกฐินจึงไม่ใช่ประเพณีที่ให้ความสำคัญในการจัดหาผ้ากฐินเป็นอันดับแรก แต่กลายเป็นการให้ความสำคัญกับการถวายปัจจัยทุนทรัพย์เป็นสำคัญ

 

การทอดกฐินในปัจจุบันจึงกลายเป็นความคาดหวังของทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส ทางวัดก็คาดหวังว่าเจ้าภาพจะสามารถนำปัจจัยเข้าวัดได้มากพอเพื่อให้วัดสามารถนำไปใช้ประโยชน์ตอบสนองโครงการต่างๆ ที่วัดตั้งไว้

 

ในขณะเดียวกันฝ่ายเจ้าภาพก็ถือเป็นภาระต้องรวบรวมปัจจัยนำไปถวายในงานกฐินให้ได้มากที่สุดเพื่อจะพอเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม