กระเบื้องในศิลปะไทย

กระเบื้อง ใช้ในการก่อสร้างสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมไทยมาตั้งแต่ยุคโบราณ นับย้อนได้ตั้งแต่ก่อนยุคสุโขทัย โดยมีประโยชน์ใช้สอยอย่างมากมาย อาทิ การมุงหลังคา การปูพื้นปูผนัง การประดับตกแต่ง เป็นต้น

 

เราสามารถเห็นกระเบื้องที่ประโยชน์ในองค์ประกอบต่างๆ ของวัดไทย ตั้งแต่หลังคา ช่อฟ้าใบระกา เชิงชาย ฐานพื้นและฝาผนังของโบสถ์วิหาร ไปจนถึงกำแพงแก้วก็ใช้กระเบื้องตกแต่งเป็นซี่ลูกกรงหรือลวดลายโปร่งของกำแพง

 

ซึ่งกระเบื้องที่ใช้เป็นวัสดุก่อสร้างทางศิลปกรรมของไทยมาตั้งแต่โบราณ มีทั้งกระเบื้องที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ กระเบื้องสำเร็จที่นำเข้ามา รวมถึงกระเบื้องสั่งทำตามแบบในต่างประเทศ

 

กระเบื้อง ถือเป็นเครื่องปั้นดินเผาชนิดหนึ่งของไทย แบ่งออกเป็น กระเบื้องเคลือบ และ กระเบื้องไม่เคลือบ โดยกระเบื้องเคลือบจะเคลือบน้ำยาก่อนนำไปเผา ทำให้มีความทนทานมากขึ้น มีสีสันสดใส และไม่ซึมน้ำ

 

ส่วนกระเบื้องไม่เคลือบจะมีผิวด้าน สีออกเป็นธรรมชาติของดิน น้ำสามารถซึมเข้าในเนื้อกระเบื้องได้ ซึ่งความชื้นจะทำให้กระเบื้องเสื่อมสภาพเร็วกว่ากระเบื้องเคลือบ

 

ในการศึกษารูปแบบกระเบื้องยุคสุโขทัย พบว่า เครื่องกระเบื้องเป็นวัสดุก่อสร้างสำคัญในการสร้างโบสถ์วิหาร พระสถูปเจดีย์  การขุดค้นทางโบราณคดีมักพบเศษกระเบื้องกระจัดกระจายอยู่ตามบริเวณรอบโบสถ์วิหาร กระเบื้องที่นิยมมาก คือ เครื่องเคลือบที่เรียกว่า เครื่องสังคโลก ซึ่งผลิตขึ้นเองในสมัยนั้น

 

ตัวอย่างของการใช้กระเบื้องเคลือบที่โดดเด่น คือ ซี่ลูกกรงของพนังกำแพงแก้วของวัดมังกร ซึ่งเป็นวัดร้างเล็กๆ แห่งหนึ่งในเขตอรัญญิกทางตะวันตกของเมืองเก่าสุโขทัย ปัจจุบันยังพบกำแพงแก้วของสถูปเจดีย์หลงเหลืออยู่ ลูกกรงของกำแพงแก้วทำด้วยสังคโลกเคลือบสีน้ำตาลอ่อนๆ สวยงามมาก 

 

ในสมัยอยุธยาตอนต้น ยังคงมีความสืบเนื่องของการผลิตเครื่องกระเบื้องสังคโลกอยู่บ้าง จนมาหยุดผลิตไปในช่วงที่เริ่มทำสงครามกับพม่า ซึ่งผู้คนในกลุ่มเมืองสุโขทัยถูกกวาดต้อนจนทำให้ต้องทิ้งเมือง รวมถึงเทคโนโลยีการผลิตเครื่องกระเบื้อง

 

ทำให้การสร้างวัดวาอารามของอยุธยาในสมัยต่อๆ มา ส่วนใหญ่มักใช้กระเบื้องดินเผาไม่เคลือบ จะเห็นว่าสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาจะมีไม่ค่อยสดใส เป็นกระเบื้องหยาบๆ สีดิน สีอิฐ ทั้งนี้ กระเบื้องเคลือบเป็นของหายากและมีราคาสูง

 

เราพบหลักฐานว่า หากมีวัดวาอารามแห่งใดนำกระเบื้องเคลือบมาใช้ก็จะกลายเป็นที่โจทย์ขาน เช่น วัดบรมพุทธาราม ซึ่งสมเด็จพระเพทราชา กษัตริย์องค์แรกของราชวงศ์บ้านภูหลวง ทรงสร้างขึ้นโดยใช้กระเบื้องเคลือบมุงหลังคาและตกแต่งโบสถ์วิหาร จนทั่วทั้งกรุงเรียกวัดนี้ว่า วัดกระเบื้องเคลือบ แต่ปัจจุบันปรักหักพังลงเหลือให้เห็นเป็นเศษกระเบื้องเคลือบกระจายรอบๆ พื้นที่ 

 

การใช้กระเบื้องเคลือบกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ การติดต่อค้าขายกับจีนทำให้เกิดเทคนิคการทำกระเบื้องมากขึ้น โดยเฉพาะกระเบื้องเขียนลาย ในช่วงรัชกาลที่ 2-3 ได้นำเข้ากระเบื้องเขียนลวดลายจากจีนเข้ามาตกแต่งวัดวาอารามมากมาย เช่น วัดเทพธิดา วัดราชโอรสาราม วัดกัลยาณมิตร วัดเฉลิมพระเกียรติ

 

จนในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าให้ตั้งโรงเผากระเบื้องเคลือบใช้เองที่วัดสระเกศฯ จึงทำให้เทคนิคในการใช้กระเบื้องเคลือบเพื่อบูรณะวัดได้รุ่งเรืองสืบต่อมาในรัชกาลที่ 4-5 ซึ่งพบว่าในรัชกาลที่ 5 ทรงใช้กระเบื้องสั่งทำที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ เป็นกระเบื้องที่มีลวดลายงดงามทั้งในแบบไทย จีน และตะวันตก 

 

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้กระเบื้องสีเบญจรงค์แบบไทยมาตกแต่งโบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ของวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม แต่เป็นกระเบื้องนำเข้ามา โดยออกแบบแล้วสั่งให้ช่างจีนทำเป็นลายไทยสีเบญจรงค์ ทำให้สถาปัตยกรรมในวัดราชบพิธใช้กระเบื้องสีเบญจรงค์ที่สดใสมากมาจนทุกวันนี้