กลองมโหระทึก

วันที่ออกอากาศ: 9 พฤศจิกายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

กลองมโหระทึก เป็นประดิษฐกรรมจากอารยธรรมยุคสัมฤทธิ์โบราณในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เข้ามามีบทบาทในวัฒนธรรมไทย กลองมโหระทึกมิได้เป็นเครื่องดนตรีสำหรับเล่นเพื่อความบันเทิง แต่คาดว่าจะเป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นกลองสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ทำมาจากส่วนผสมของทองแดงและดีบุก พบได้ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งบทแผ่นดินใหญ่และในบริเวณคาบสมุทรหมู่เกาะต่างๆ

 

กลองมโหระทึกมีลักษณะเป็นกลองตั้งมีตั้งแต่ขนาดกลางจนถึงขนาดใหญ่ หน้ากลองทำจากโลหะสัมฤทธิ์ตกแต่งเป็นลวดลาย ซึ่งส่วนใหญ่นิยมลวดลายเป็นวงโคจรของดวงดาวที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง บ้างเป็นภาพวงโครจรของฝูงนก บ้างเป็นขบวนของผู้คนลักษณะต่างๆ ส่วนตรงมุมทั้ง 4 ของหน้ากลองยังมีรูปกบ 4 ตัวนั่งอยู่

สันนิษฐานว่าต้นตอของกลองมโหระทึกมาจากวัฒนธรรมดงเซิน (Dong Son) ซึ่งเป็นวัฒนธรรมหนึ่งในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีอายุประมาณ 2,000 ปีจนถึง 1,000 กว่าปีก่อนคริสตกาล มีศูนย์กลางอยู่ที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในแขวงทันหัวของเวียดนามตอนเหนือ หรือที่เรียกว่าแคว้นตันเกี๋ย

 

ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมสัมฤทธิ์บนคาบสมุทรชานตงทางตอนใต้ของจีน ซึ่งแพร่ขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรมเลียบฝั่งทะเลของประเทศจีนลงมาจนถึงเวียดนามตอนเหนือ พบร่องรอยของชุมชนมนุษย์ที่ประสบความสำเร็จในผสมแร่ทองแดงและดีบุกกลายเป็นโลหะสัมฤทธิ์นำมาใช้ประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ก่อนจะมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับพื้นที่อื่นๆ ในภูมิภาค

 

ปัจจุบันสามารถขุดพบกลองมโหระทึกทั้งในหมู่เกาะอินโดนีเซีย แหลมมลายู รวมถึงพื้นที่แถบประเทศพม่าและกัมพูชา

 

สำหรับการใช้กลองมโหระทึก ประการแรกใช้ตีบอกสัญญาณสำคัญในพิธีกรรมต่างๆ บอกกล่าวการปรากฏตัวของชนชั้นสูง ประการต่อมาใช้ในพิธีกรรมเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์หรือพิธีขอฝน สันนิษฐานได้จากรูปกบบนหน้ากลอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของฝนฟ้ามาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์

 

เมื่อพิจารณาลวดลายบนหน้ากลองที่ส่วนใหญ่ทำเป็นวงกลมซ้อนกันและมีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรู้จักสังเกตุวิถีโคจรของดวงอาทิตย์และดวงดาวในธรรมชาติที่เป็นปรากฎการณ์บนท้องฟ้าที่มีความสัมพันธ์กับฤดูกาลปลูกเพาะ หรือความสัมพันธ์ระหว่างดวงจันทร์กับปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง

 

แสดงในเห็นถึงภูมิปัญญาต่างๆ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน กลองมโหระทึกจึงมีความสัมพันธ์โดยตรงกับพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของมนุษย์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่โบราณ

 

กลองมโหระทึกในวัฒนธรรมไทยมีปรากฏอยู่ในจารึกตั้งแต่ยุคก่อนสุโขทัย ในบทพระอัยการสมัยอยุธยา จนปรากฏเป็นรูปธรรมชัดเจนในสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งประโคมกลองมโหระทึกในในงานพระราชพิธีต่างๆ เฉพาะพระอิสริยยศพระมหากษัตริย์ อาทิ การเสด็จออกมหาสมาคมในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษา พระราชพิธีถวายน้ำสงฆ์พระบรมศพในอดีตก็จะมีการย่ำมโหรทึกไปพร้อมกับการประโคมแตรสังข์ ตีกลองชนะ

 

รวมถึงการประโคมในพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ซึ่งบริเวณบันไดทางขึ้นพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้านหน้าของฉากลับแลกั้นประตูทั้ง 2 ข้าง จะมีกลองมโหระทึกตั้งอยู่เพื่อใช้ในพระราชพิธี