กว่าจะเป็นแม่ฮ่องสอน

วันที่ออกอากาศ: 1 กุมภาพันธ์ 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พื้นที่บริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีภูมิประเทศเป็นหุบเขา ทำให้ตัวเมืองมักตั้งอยู่ในหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่าน จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่า อาณาบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีร่องรอยของมนุษย์อยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์

 

ยิ่งมีการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งใหม่ๆ ก็ยิ่งพบหลักฐานที่อายุเก่าแก่มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันพบหลักฐานที่มีอายุเกินกว่าหมื่นปีแล้ว อาทิ โลงศพที่ทำจากไม้ซุงในถ้ำผีแมน แกลบข้าวที่แสดงถึงภูมิปัญญาในการปลูกข้าวเป็นธัญญาหาร เป็นต้น 

 

อำเภอสำคัญๆ ของแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน เช่น อำเภอขุนยวม อำเภอปาย อำเภอแม่เสลียง หรือแม้กระทั่งตัวอำเภอเมือง เกิดขึ้นมาจากกระบวนการขยายอาณาเขตของอาณาจักรล้านนา

 

การแสวงหาทรัพยากรต่างๆ แร่ธาตุ ป่าไม้ ตลอดจนทรัพยากรบุคคล ซึ่งหมายถึงการรวบรวมคนในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่กลุ่มคนไทยวนของล้านนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักร เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านกำลังคนของอาณาจักรล้านนาในช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-20 เนื่องจากกำลังเผชิญกับการคุกคามจากอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยา รวมถึงการขยายอิทธิพลของราชวงศ์พม่า

 

อย่างไรก็ตาม จังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบันมีประชากรส่วนใหญ่เป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์ฉานหรือไทใหญ่ อันเนื่องมาจากการอพยพของชาวไทใหญ่จากความผันผวนทางการเมืองภายในรัฐฉานในระยะหลัง

 

ราวปลายปีพุทธศตวรรษที่ 24 ช่วงที่แม่ฮ่อนสอนกำลังเข้าสู่ยุคชุมชนเมือง สมัยเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์เป็นผู้ปกครองล้านนา เกิดการสู้รบกันในรัฐไทใหญ่ทำให้ชาวไทใหญ่กลุ่มหนึ่งอพยพข้ามแม่น้ำสาละวินเข้ามาอาศัยอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ บริเวณที่เป็นเมืองแม่ฮ่องสอนปัจจุบัน อาทิ บ้านแม่ร่องสอน ปางหมู ขุนยวม ปาย

 

มีผู้นำชาวไทใหญ่ชื่อ ชานกะเล ซึ่งเป็นทหารในกองทัพของเจ้าฟ้าโกหล่าน เจ้าฟ้าไทใหญ่นครหมอกใหม่ ไม่เห็นด้วยกับการยกทัพไปสู้รบกับเมืองเชียงของ ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองในพระราชอาณาเขตของสยามแล้ว จึงลอบพาผู้คนหนีจากเมืองหมอกใหม่อพยพมาอยู่ที่บ้านแม่ร่องสอน ในเวลาต่อมาเจ้าฟ้าโกหล่านเองก็ต้องอพยพมาอยู่เมืองปายด้วยรบแพ้ต่อเจ้าเมืองไทใหญ่คนอื่นๆ 

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ. 2443 รัฐบาลได้รวมเมืองขุนยวม เมืองปาย เป็นเมืองใหญ่เมืองเดียวกันคือเมืองแม่ฮ่องสอน จนมาถึงสมัยรัชกาลที่ 6 จึงยกฐานะเมืองแม่ฮ่องสอนขึ้นเป็นเมืองชั้นจัตวาในสังกัดมณฑลพายัพ มีการแต่งตั้งข้าราชการทำหน้าที่เจ้าเมืองแม่ฮ่องสอนจากรัฐบาลไทย คือ พระศรสุรราช (เปลื้อง) ถือว่าท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนคนแรก ในช่วงพ.ศ. 2484-2488

 

แม่ฮ่องสอนถือเป็นหนึ่งในจังหวัดของประเทศสยามที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพญี่ปุ่นเดินทัพผ่านเข้ามาในเขตอำเภอขุนยวมเพื่อที่จะข้ามไปยังประเทศพม่า จนกระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามก็ถอนทัพกลับมาเมืองขุนยวม ซึ่งชาวเมืองให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี

 

ด้วยความซาบซึ้งในมิตรไมตรีรัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้มาก่อตั้งอนุสรณ์สถานแห่งมิตรภาพไทยญี่ปุ่นที่อำเภอขุนยวม ปัจจุบันตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงวัตถุและภาพถ่ายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามเอเชียบูรพาของเมืองขุนยวม

 

นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2488 ถือว่าแม่ฮ่องสอนได้วิวัฒนาการขึ้นมาเป็นหนึ่งในจังหวัดของประเทศไทยโดยสมบูรณ์ แต่มีปัญหาการคมนาคมที่ไม่สะดวก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงทรงบุกเบิกพัฒนาพื้นที่บริเวณที่สูงของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ทรงพัฒนาวิถีชีวิตของชนกลุ่มน้อยตามโครงการพระราชดำริ ทั้งทรงสร้างพระราชนิเวศที่ประทับคือ พระราชนิเวศปางตอง ในช่วงที่เสด็จแปรพระราชฐาน ทำให้จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้รับการพัฒนาขึ้นมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน