การชุมนุมล้มอำนาจรัฐในสมัยโบราณ

วันที่ออกอากาศ: 16 กุมภาพันธ์ 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การชุมนุมต่อต้านอำนาจรัฐ ปรากฏในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย คือการระดมผู้คนมาชุมนุมโดยมีวัตถุประสงค์ในการยุติ ล้มล้าง เปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐ หรือเปลี่ยนขั้วอำนาจการปกครองจากกลุ่มอำนาจเดิมไปสู่กลุ่มผู้ต่อต้าน

 

ในสมัยโบราณความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่ความไม่พอใจในตัวกษัตริย์ มักเป็นปัญหาความขัดแย้งในกลุ่มบุคคลชั้นปกครอง กลุ่มเจ้านาย หรือกลุ่มขุนนาง ซึ่งมักมีความไม่ลงรอยในการจัดสรรทรัพยากร

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเกณฑ์แรงงานในสังคมยุคจารีตที่มีความเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอำนาจรัฐอย่างมาก ทั้งในเรื่องกำลังพลในการทัพ และแรงงานในก่อสร้างอาคารสถานสำคัญ สาธารณูปโภคต่างๆ ในเมือง

 

กระบวนการชิงอำนาจจำเป็นต้องผ่านการล้มอำนาจเดิม โดยการระดมผู้คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรผู้ชายมาชุมนุมพลกลายเป็นกองกำลังติดอาวุธหรือทหาร เพื่อรบพุ่งกับฝ่ายที่ตนเองต้องการล้มอำนาจ 

 

มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรปรากฏในศิลาจารึกยุคสุโขทัย โดยเฉพาะจารึกวัดป่ามะม่วง กล่าวถึง ความวุ่นวายจากการชิงอำนาจหลังรัชสมัยพระยาเลอไท พระมหาธรรมราชาลิไทต้องเสด็จเข้ามาระงับการจลาจลโดยอ้างความชอบธรรมในฐานะพระมหาอุปราช จึงทรงระดมไพร่พลจากเมืองศรีสัชนาลัยเข้ามาตีเมืองสุโขทัยจนทรงได้รับอำนาจการปกครอง ภายหลังทรงใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสถานะของพระองค์ในฐานะกษัตริย์แบบธรรมราชา 

 

ในสมัยอยุธยาที่มีช่วงระยะเวลายาวนานกว่า 4 ศตวรรษ ก็มีเหตุขัดแย้งในชนชั้นปกครองอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอาณาจักรอยุธยาเกิดจากการรวมของนครรัฐเดิม 3 นคร คือ สุพรรณภูมิ อโยธยา และละโว้ ซึ่งผนวกรวมเข้าด้วยกันบนพื้นฐานความสัมพันธ์ทางเครือญาติจากการอภิเษกสมรสข้ามราชวงศ์ จึงมักเกิดเหตุความขัดแย้งทางการเมือง

 

โดยเฉพาะช่วงการเปลี่ยนผ่านรัชกาลที่ต่างฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมในการเป็นผู้ถืออำนาจการปกครองของรัฐ อาทิ เหตุการณ์เมื่อสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง มีความขัดแย้งระหว่างสมเด็จพระราเมศวร เจ้านายฝั่งอู่ทอง กับขุนหลวงพระงั่ว เจ้านายฝั่งสุพรรณภูมิ

 

หรือเมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงกระทำการต่อต้านสมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ซึ่งเป็นพระเจ้าอา พระองค์ต้องทรงระดมพลแม้กระทั่งชาวต่างชาติ โดยเฉพาะแขกเปอร์เซีย แขกมัว มาเป็นกำลังสำคัญ จนได้รับชัยชนะและทรงสามารถขึ้นครองราชย์ได้สำเร็จ

 

นอกจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนชั้นนำ ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวถึงกรณีชนชั้นระดับไพร่บ้านพลเมืองลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจรัฐในสมัยอยุธยา ที่เราเรียกว่าเหตุการณ์กบฏต่างๆ อาทิ กบฏธรรมเสถียรในสมัยพระเพทราชา ด้วยเกิดความไม่พอใจในอำนาจรัฐของราชวงศ์บ้านภูหลวง โดยมีนายธรรมเสถียรซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดาปลอมตัวเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศ พระญาติของสมเด็จพระนารายณ์ เพื่ออ้างความชอบธรรมในการสืบต่อราชบัลลังก์ มีการระดมพลจากชาวบ้านตามชานเมืองอยุธยา

 

หรือกรณี กบฏผู้มีบุญต่างๆ ที่มักใช้เหตุการณ์ทางพระพุทธศาสนามาอ้างอิงตัวว่าเป็นผู้นำที่จะสิ้นสุดกลียุคและนำไปสู่ยุคพระศรีอารย์ที่ประเสริฐกว่า เพื่อสร้างความชอบธรรมในการระดมชาวบ้านต่อต้านอำนาจรัฐ

 

จึงเห็นได้ว่าการชุมชนต่อต้านอำนาจรัฐในสมัยโบราณแตกต่างจากการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน  ด้วยในทัศนะคนโบราณ กษัตริย์คือผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองของรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิ์ เมื่อเกิดความไม่พอใจหรือมีความขัดแย้งกับองค์อธิปัตย์ของรัฐ จึงมักนำไปสู่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวผู้ปกครอง  

 

ส่วนการชุมนุมทางการเมืองในปัจจุบัน เป็นแนวคิดที่ใหม่ที่นำมาจากโลกตะวันตก ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสมัยรัชกาลที่ 5 ในปี 2435 ไปแล้ว ซึ่งอาจเป็นการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องบางอย่าง โดยไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองก็ได้