การบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์

วันที่ออกอากาศ: 4 พฤษภาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระราชพิธีการบรมราชาภิเษก เป็นพระราชพิธีสำคัญของการขึ้นครองราชสมบัติของพระมหากษัตริย์ไทย ปรากฎเป็นหลักฐานมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ดังปรากฎในจารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวถึงการราชาภิเษกสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท

 

คำว่า บรมราชาภิเษก หรือ ราชาภิเษก หมายถึงการอภิเษกบุคคลขึ้นเป็นพระราชา ประกอบด้วยคำศัพท์ 2 คำ คือ ราชะ แปลว่าพระราชา กับคำว่า อภิเษก ในภาษาบาลีสันสกฤตหมายถึงการแต่งตั้งหรือยกย่องให้ใครหรือสิ่งใดขึ้นมามีความสำคัญ ผ่านพิธีกรรมซึ่งมักกระทำผ่านการรดน้ำเป็นสำคัญ

 

ตามคติความเชื่อโบราณของพราหมณ์เชื่อว่าน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความบริสุทธิ์ โดยสามารถชำระล้างสิ่งต่างๆ ให้เกิดความบริสุทธิ์ ก่อนการยกย่องไปสู่ฐานะอันสูงส่ง ซึ่งในที่นี้คือการยกฐานะให้บุคคลหนึ่งเป็นพระราชาที่สูงส่งเปรียบดังสมมุติเทพหรือเทวราชา

 

พิธีกรรมทางพราหมณ์จึงเป็นแก่นสำคัญในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสังคมไทย โดยนักบวชพราหมณ์มีบทบาทสำคัญในฐานะสื่อในการติดต่อระหว่างมนุษย์กับเทพเจ้า 

 

การบรมราชาภิเษกในสมัยอยุธยาถือเป็นแบบแผนที่ใช้สืบต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ มีพิธีทางพราหมณ์สำคัญ 3 ขั้นตอน เริ่มจากการสรงมูรธาภิเษก คือ การอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด โดยใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ซึ่งกำหนดไว้ในจารีต ตักมารวมกันแล้วนำมาเสกโดยพราหมณ์ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงกำหนดให้เพิ่มพิธีสงฆ์ โดยให้พระสงฆ์ร่วมสวดมนต์เสกน้ำด้วย

 

ขั้นตอนต่อมาคือ การรับน้ำอภิเษก หลังจากสรงมูรธาภิเษก ผลัดพระภูษา ทรงเครื่องราชภูษิตาภรณ์แล้ว จะประทับบนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ สร้างจากไม้มะเดื่อเป็นรูป 8 เหลี่ยมเพื่อทรงหันพระองค์ได้ครบทั้ง 8 ทิศ ทรงรับน้ำอภิเษกจากพราหมณ์ 8 คนซึ่งยืนในตำแหน่งรายรอบพระองค์

 

ต่อมาหลังจากสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงกำหนดให้ผู้แทนราษฎรเป็นผู้ถวายน้ำแทน เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย

 

ในขั้นตอนสุดท้ายจะเสด็จไปประทับที่พระที่นั่งภัทรบิฐ พระมหาราชครูพราหมณ์จะประกอบพิธีเปิดศิวาลัยไกรราชเพื่อเชิญองค์พระศิวะแบ่งภาคลงมาประทับในองค์พระมหากษัตริย์ หลังจากนั้นกล่าวคาถาถวายศิริราชสมบัติ ถวายพระคลัง ถวายทรัพยากรต่างๆ รวมถึงพระราชอำนาจ

 

เมื่อพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงรับเครื่องถวายต่างๆ แล้ว จึงยกพระมหาเศวตฉัตรขึ้นเหนือพระราชบัลลังก์ที่ประทับ หลังจากทรงรับการบรมราชาภิเษกจะทรงหลั่งทักษิโณทกและตั้งสัตยาธิษฐาน 

 

ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา ทรงให้ความสำคัญกับพิธีทางพระพุทธศาสนา โดยเพิ่มจำนวนวันของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจากขั้นตอนเดิมในพิธีพราหมณ์ ทรงกำหนดให้พระมหากษัตริย์ต้องเสด็จมาสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ 3 วันก่อนวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

ภายหลังจากวันบรมราชาภิเษกยังทรงกำหนดให้มีพระราชพิธีทางพุทธศาสนา คือ การสดับพระมงคลวิเศษเทศนา เรียกว่าเป็นพระธรรมเทศกาลกัณฑ์แรกในแผ่นดิน ซึ่งประมวลสาระและธรรมะในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับหลักปฏิบัติสำหรับผู้เป็นกษัตริย์ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้ถวายพระธรรมเทศนา

 

ในขั้นตอนต่างๆ ก็โปรดให้มีพระสงฆ์อยู่ในมณฑลพระราชพิธีด้วย ทั้งการสรงพระมูรธาภิเษก การทรงรับราชสมบัติต่างๆ ก็ทรงให้พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาในเวลาเดียวกัน ทรงกำหนดให้พระราชาคณะผู้ใหญ่ทำหน้าที่ผู้ประกาศพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแทนการทำหน้าที่ของพราหมณ์

 

นอกจากนี้ ทรงลดความสำคัญของคติการยกย่องพระมหากษัตริย์ในฐานะเทวราชาหรือสมมุติเทพลงเป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเพณีโบราณ โดยเพิ่มความสำคัญในขั้นตอนการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎ ซึ่งให้ความหมายของการเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่หรือพระจักรพรรดิราชตามคติพระพุทธศาสนา