การประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในสมัยอยุธยา ตอนที่ 2

วันที่ออกอากาศ: 29 มิถุนายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การสร้างพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นคติความเชื่อที่สังคมในดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบันรับอิทธิพลมาจากพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์มาตั้งแต่ยุคก่อนสุโขทัย โดยพบหลักฐานการสร้างสถูปเจดีย์ที่ใช้สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในสมัยทวารวดี

 

จากการขุดสำรวจสถูปหมายเลข 1 ของเมืองคูบัว จังหวัดราชบุรี กรมศิลปากรพบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในกรุใต้ฐานสถูปเจดีย์ กรุมีพื้นเป็นแผ่นหินแบ่งช่องตารางเป็นสัญลักษณ์มงคลซึ่งปรากฎในคติความเชื่อของอินเดียสืบต่อมาถึงลังกา เป็นผอบซ้อนกัน 3 ชั้นทำจากวัสดุที่มีค่าน้อยไปหามาก ได้แก่ สัมฤทธิ์ เงิน และทองคำ พระบรมสารีริกธาตุที่พบมีลักษณะเป็นแก้วผลึก 

 

ในสมัยรัฐสุโขทัย บริเวณที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันให้ความสำคัญกับธรรมเนียมการสร้างพระธาตุเจดีย์อย่างมาก ทั้งกลุ่มเมืองภายใต้อำนาจรัฐสุโขทัย ได้แก่ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร พิจิตร ตาก กลุ่มเมืองของแคว้นล้านนา กลุ่มเมืองในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ สุพรรณภูมิ ละโว้ อโยธยา รวมถึงเมืองนครศรีธรรมราชทางภาคใต้ ซึ่งรับพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์เข้ามาเช่นเดียวกัน

 

พระบรมสารีริกธาตุมีความสำคัญในฐานะเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวเมือง เสมือนเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นรูปธรรมมากที่สุด นอกจากนี้ ยังถือเป็นสิ่งที่ค้ำชูความชอบธรรมของกษัตริย์ภายใต้คติของพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ซึ่งตามพระสูตรกล่าวว่ากษัตริย์มีภาระหน้าที่ต้องรวบรวมพระบรมสารีริกธาตุและพระไตรปิฎกไว้ในราชอาณาจักร

 

การสร้างพระธาตุเจดีย์เพื่อบูชาพระพุทธสรีระซึ่งจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ มักสร้างในจุดศูนย์กลางของผังเมือง โดยในรัฐสุโขทัยมีพระธาตุเจดีย์สำคัญ ได้แก่ พระศรีรัตนมหาธาตุที่เมืองเชลียงซึ่งเป็นที่ตั้งเก่าของศรีสัชนาลัย พระมหาธาตุเจดีย์วัดช้างล้อมกลางเมืองศรีสัชนาลัย เจดีย์ประธานในวัดพระมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย รวมถึงเมืองที่อยู่รอบนอกกรุงสุโขทัย ได้แก่ พระบรมธาตุอำเภอบ้านตาก เมืองตาก พระบรมธาตุเมืองนครชุม เมืองกำแพงเพชร เป็นต้น

 

ในสมัยอยุธยา เนื่องจากบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้รับอิทธิพลจากพุทธศาสนามหายานและพราหมณ์จากอารยธรรมขอมที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ในระยะแรกจึงมีการผนวกคติเรื่องการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเข้ากับคติการสร้างพระปรางค์แบบขอม แต่เปลี่ยนสถานะจากเทวาลัยมาเป็นพระธาตุเจดีย์

 

ลักษณะสถาปัตยกรรมของปรางค์จะมีห้องครรภคฤหะหรือเรือนธาตุเป็นโถงกลางสำหรับประดิษฐานเทวรูป แต่คติการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุจะต้องประดิษฐานไว้ในชั้นใต้ดิน จึงเพิ่มการสร้างพระปรางค์หรือเจดีย์ย่อส่วนใช้เป็นกรุไว้ใต้ฐานเรือนธาตุของพระปรางค์

 

ตัวอย่างที่สมบูรณ์ที่สุดของการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในลักษณะนี้ คือ กรุพระปรางค์วัดราชบูรณะ สร้างเป็นกรุ 3 ชั้น แต่ละชั้นเป็นห้องขนาดคนยืนได้ไม่เกิน 2 คน ผนังก่ออิฐถือปูนทั้ง 4 ด้าน เขียนจิตรกรรมฝาผนังประดับ

 

ชั้นบนเป็นภาพเทพชุมนุมและมีลวดลายมงคลแบบศิลปกรรมจีน ชั้นต่อมาเป็นห้องเก็บเครื่องทองต่างๆ มีภาพอดีตพระพุทธเจ้าตามคติของลังกา ภาพพุทธประวัติ ภาพพระอสีติมหาสาวก ภาพชาดก 550 พระชาติเรียงกัน

 

ส่วนห้องชั้นล่างไม่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นส่วนประดิษฐานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ชั้นนอกเป็นแท่งหินรูปเขาพระสุเมรุ ชั้นต่อๆ มาเป็นผอบมีค่าต่างๆ ชั้นสุดท้ายเป็นพระเจดีย์ทองคำประดับอัญมณี พระบรมสารีริกธาตุมีลักษณะเป็นแก้วผลึกแช่ไว้ในน้ำมันจันทน์ที่สกัดจากไม้กฤษณา

 

ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลาง มีวิวัฒนาการสร้างกรุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ในตำแหน่งส่วนต่อของคอระฆังส่วนบนกับยอดเจดีย์ อย่างเช่นกรุพระเจดีย์สวนหลวงสบสวรรค์ หนึ่งในพระเจดีย์ 3 องค์ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่ใช้สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์