การประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในสมัยอยุธยา ตอนที่ 1

วันที่ออกอากาศ: 22 มิถุนายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระบรมสารีริกธาตุ มีความสำคัญในความรับรู้ของสังคมไทยมาตั้งแต่โบราณ การสร้างพระธาตุเจดีย์หรือพระสถูปสำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพื่อเป็นศาสนสถานศูนย์กลางของวัด เป็นคติความเชื่อของสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย

 

รวมถึงบ้านเมืองที่อยู่ร่วมสมัย อาทิ ล้านนา พะเยา สุพรรณภูมิ อโยธยา ก็วางแผนผังของวัดตามคติทางพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์เช่นเดียวกัน 

 

คติเรื่องพระบรมสารีริกธาตุมีที่มาจากอินเดียโบราณ ตามพุทธประวัติหลังการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระก็เกิดการทำสงครามระหว่าง 9 นครรัฐที่ต่างประสงค์จะครอบครองพระบรมสารีริกธาตุ แต่ในที่สุดได้แบ่งพระบรมธาตุเป็น 9 ส่วนให้กษัตริย์อัญเชิญกลับไปสักการะบูชาที่นครรัฐของตน

 

การสร้างสถูปเจดีย์เพื่อประดิษฐานเป็นความเชื่อที่อ้างอิงจากพุทธวจนะที่เคยกล่าวแก่พระอานนท์ ซึ่งกล่าวถึงบุคคลที่สมควรแก่การสร้างสถูปเจดีย์เพื่อเป็นที่ระลึก ได้แก่ พระเจ้าจักรพรรดิ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

สถูปเจดีย์องค์แรกที่ถือแบบแผนของการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ คือ สถูปในเมืองปิปผลิวาห์ (Piparawa) อยู่บริเวณรอยต่อประเทศอินเดียกับเนปาล ซึ่งนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นบริเวณที่ตั้งของกรุงกบิลพัสดุ์ในอดีต ซึ่งค้นพบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในกรุลักษณะเหมือนหีบทำจากแผ่นหินทราย ฝังลึกลงไปจากฐานชั้นล่างสุดของสถูป 10 ฟุต ในกรุเดียวกันนั้นมีจารึกของกษัตริย์ในศากยวงศ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์เป็นหลักฐานทำให้เชื่อว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

พระบรมสารีริกธาตุที่นักโบราณคดีค้นพบนั้น ส่วนหนึ่งนำมาจัดแสดงที่ British Museum ประเทศอังกฤษ ส่วนที่เหลือรัฐบาลอังกฤษได้ทูลฯถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียวที่ทั่วโลกยอมรับว่าเป็นพุทธมามกะหรือพุทธศานูปถัมภ์

 

ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุบนพระบรมบรรพตภูเขาทองที่วัดสระเกศ ซึ่งถือเป็นพระเจดีย์เพียงแห่งเดียวในประเทศที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีหลักฐานปรากฏชัดเจน

 

ขณะเดียวกันก็โปรดเกล้าฯ ให้แบ่งส่วนหนึ่งพระราชทานแก่ประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดแห่งหนึ่งในเมืองนารา ซึ่งเป็นเมืองสำคัญทางพระพุทธศาสนาของญี่ปุ่นตั้งแต่คริสตวรรษที่ 12

 

คติของการบูชาพระบรมสารีริกธาตุได้แพร่ขยายในภาคต่างๆ ของอินเดีย ผ่านไปยังศรีลังกา เอเชียกลาง เอเชียตะวันตก ซึ่งพระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองก่อนการเข้ามาของศาสนาอิสลาม รวมถึงในทิเบตและประเทศจีนก็พบธรรมเนียมการสร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ใต้ฐานสถูป

 

การแพร่ขยายของคติเรื่องพระบรมสารีริกธาตุนี้สันนิษฐานว่าเป็นอิทธิพลจากการเผยแพร่พระพุทธศาสนาของกษัตริย์นครรัฐต่างๆ ที่รับเอาพระบรมสารีริกธาตุไปบูชา

 

อย่างไรก็ตาม พระบรมสารีริกธาตุที่แพร่กระจายออกไปในยุคหลังมักไม่ได้พิจารณาเรื่องความแท้หรือไม่แท้ของพระบรมสารีริกธาตุ แต่เป็นเรื่องของศรัทธาความเชื่อมากกว่า ซึ่งพระบรมสารีริกธาตุในช่วงหลังปรากฎว่ามีลักษณะเป็นหินมีค่าแก้วผลึกต่างๆ ซึ่งมีลักษณะต่างจากอัฐิธาตุหรือเถ้ากระดูกของมนุษย์ จนกลายเป็นความเชื่อในเวลาต่อมาว่าพระบรมสารีริกธาตุนั้นมีคุณพิเศษ

 

ในสังคมไทยก็มีคติโบราณพรรณนาถึงลักษณะพระบรมสารีริกธาตุว่าเหมือนแก้วผลึกเหมือนเม็ดข้าวสารเช่นกัน ซึ่งทำให้การสร้างสถูปเจดีย์พระธาตุเจดีย์สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและแพร่ขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของสังคมไทย เพื่อใช้เป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชน