การศึกษาประวัติศาสตร์จากจารึก

ในการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคโบราณ จารึกถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมาก เพราะหากขาดเสียซึ่งหลักฐานประเภทนี้แล้ว ก็จะไม่สามารถให้คำอรรถาธิบายประวัติศาสตร์ในยุคต้นได้เลย

 

การทำจารึกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งในประเทศไทย เริ่มมีความสำคัญตั้งแต่ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 1 เป็นต้นมา กระทั่งคริสต์ศตวรรษที่ 13-14 จึงค่อยๆ ได้รับความนิยมน้อยลงไป จนในที่สุดธรรมเนียมการทำจารึกก็กลายเป็นบันทึกเรื่องราวเฉพาะในวงการพุทธศาสนา 

 

จารึก คือการสลักตัวอักษรลงไปบนวัสดุที่เป็นพื้นระนาบและมีความแข็ง แล้วใช้ศิลปะในการสลักอักษรลงไปในเนื้อวัตถุเพื่อให้คงทนอยู่ยาวนาน เราสามารถใช้ตัววัตถุมาแบ่งประเภทของจารึกได้ ดังนี้

 

ประเภทแรก ศิลาจารึก คือ จารึกบนแผ่นหิน ซึ่งเป็นที่นิยมมาก เพราะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีหินหลายชนิดที่สามารถใช้ทำจารึกได้ดี อีกประการหนึ่ง หินเป็นวัสดุที่คงทน แม้ว่ายุคสมัยของบุคคลหรือบ้านเมืองที่เป็นเจ้าของจารึกนั้นจะผ่านพ้น หรือเสื่อมถอยไปแล้วนานนับพันปีก็ตาม แต่ศิลาจารึกนั้นยังคงอยู่เป็นหลักฐานที่ทำให้คนรุ่นหลังได้ใช้ศึกษาในทางประวัติศาสตร์

 

ประเภทต่อมาเป็นจารึกบนแผ่นโลหะ ซึ่งนิยมใช้แผ่นทองคำ แผ่นโลหะผสม หรือแม้กระทั่งสัมฤทธิ์ การจารึกบนสัมฤทธิ์ไม่ได้ทำในลักษณะแผ่นระนาบ แต่จะจารึกลงบนวัตถุที่ทำขึ้นจากสัมฤทธิ์ เช่น ฐานเทวรูป ระฆัง เป็นต้น นอกจากนี้ ก็มีการจารึกลงบนแผ่นไม้ แต่ไม่ค่อยคงทนนัก

 

จารึกยังสามารถแบ่งประเภทตามวัตถุประสงค์ของการใช้ ประเภทแรก คือ จารึกเพื่อประกอบศาสนาสถาน อาทิ เทวาลัย วัด หรือสถูปเจดีย์ต่างๆ ซึ่งเป็นธรรมเนียมของไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ยุคโบราณ

 

การสร้างจารึกพร้อมกับการสร้างศาสนสถานนั้น ก็เพื่อแสดงวัตถุประสงค์ของผู้สร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการทำบุญบำเพ็ญพระราชกุศลของกษัตริย์ หรือเป็นการสร้างถวายเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ การบูชาพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนามหายาน หรือเป็นพุทธบูชาแก่พระรัตนตรัย ซึ่งจะมีการบันทึกข้อความลงไปในจารึก นอกจากนี้ยังได้ระบุถึงการอุทิศถวายที่เรียกว่า การกัลปนา จากนั้นจึงเป็นการอธิษฐานขอพรต่างๆ 

 

ประเภทสอง คือ จารึกบันทึกประวัติบุคคลและเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของผู้สร้างจารึก ตัวอย่างเช่น พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงให้สร้างจารึกประเภทนี้ พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อสายพอขุนผาเมือง ก็ทรงสร้างจารึกวัดศรีชุมเพื่อบันทึกเหตุการณ์ของราชวงศ์พระร่วง ตั้งแต่ก่อนสถาปนากรุงสุโขทัย รวมทั้งเรื่องราวของพระองค์ที่จำเป็นต้องออกผนวช ไปจาริกแสวงบุญยังลังกาทวีป แล้วก็นำสิ่งที่ได้ศึกษากลับมาสร้างสิ่งต่างๆ ในเมืองสุโขทัย 

 

ประเภทที่สาม คือ จารึกเพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ ก็เป็นจารึกที่นิยมทำกันมาตั้งแต่สมัยโบราณจวบจนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่นศิลาฤกษ์ต่างๆ รวมทั้งจารึกแผ่นป้ายในการเปิดใช้อาคาร

 

นอกจากนี้ก็มีจารึกที่บันทึกความรู้หรือสรรพวิทยาการต่างๆ เช่น จารึกวัดพระเชตุพน โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าให้บันทึกสรรพวิชาต่างๆ ที่เป็นองค์ความรู้ในแบบจารีตดั้งเดิมของสังคมไทย ไม่ให้สูญหายไปท่ามกลางกระแสของวัฒนธรรมตะวันตกหรือความรู้แผนใหม่ที่เข้ามา 

 

จารึกเหล่านี้ ต่างให้ข้อมูลที่สำคัญเพื่อสำหรับการศึกษาประวัติศาสตร์ แม้แต่จารึกประกอบศาสนสถาน ที่นอกจากจะให้ความรู้เกี่ยวกับวัดวาอารามแล้ว ยังให้ข้อมูลอื่นๆ โดยเฉพาะการกัลปนา ที่มีการอุทิศข้าวของเครื่องใช้ ผู้คน สิ่งก่อสร้าง หรือข้อมูลการทำเกษตรกรรมและการปศุสัตว์ ก็สะท้อนให้เห็นสภาพเศรษฐกิจของบ้านเมืองในช่วงเวลานั้นได้เป็นอย่างดี