การอาบน้ำแบบไทยๆ

วันที่ออกอากาศ: 22 เมษายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในสังคมไทย การอาบน้ำชำระล้างกายถือเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่โบราณ จนอาจเรียกเป็นวัฒนธรรมก็ว่าได้ ซึ่งการอาบน้ำบางประเภท ยังได้รับยกย่องเป็นประเพณีพิธีกรรมด้วย

 

สังคมไทยในอดีตที่นิยมสร้างบ้านริมแม่น้ำ มักสร้างท่าน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจวัตรประจำวัน รวมถึงการอาบน้ำ ดังปรากฏในสำนวนที่ว่า อาบน้ำอาบท่า  ซึ่งติดปากคนไทยมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าปัจจุบัน คนส่วนใหญ่นิยมอาบน้ำในห้องน้ำแล้วก็ตาม

 

ในวัฒนธรรมการอาบน้ำของคนไทย มิใช่เพียงแต่การนุ่งกระโจมอก หรือผ้าขาวม้า ลงไปตักน้ำอาบที่ท่าเท่านั้น ยังมีภูมิปัญญาในเรื่องการทำความสะอาดร่างกาย รวมถึงการบำรุงประทินผิว เห็นได้จากวรรณคดีไทยหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะ ขุนช้างขุนแผน และ อิเหนา ซึ่งสะท้อนธรรมเนียมรูปแบบการอาบน้ำแบบไทยๆ ทั้งของชนชั้นสูง และของชาวบ้าน ว่ามีวิธีการชำระล้างร่างกายให้สะอาด การบำรุงผิวพรรณด้วยสมุนไพรที่เป็นประโยชน์ และมีขั้นตอนที่พิถีพิถัน

 

แม้ว่าในสมัยโบราณ จะไม่มีสบู่ หรือแชมพู ที่เป็นสารเคมีสำหรับทำความสะอาดร่ายกาย และเส้นผม แต่คนไทยในอดีต ก็รู้จักใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณที่เหมาะสม ตัวอย่างเช่น การใช้ขมิ้น และมะขามเปียก ในการอาบน้ำ โดยคั้นน้ำจากขมิ้นมาชโลมตัว ขัดทำความสะอาดร่างกายแล้วจึงล้างออก จากนั้น ใช้มะขามเปียกที่ขยำผสมกับน้ำ โดยนำกากมาใช้เป็นใยสำหรับขัดผิว เสร็จแล้วให้ล้างน้ำออก เป็นการบำรุงผิวพรรณให้งามผ่อง

 

ในการสระผมนั้น คนไทยแต่ละภูมิภาค ต่างมีภูมิปัญญาเลือกใช้สมุนไพรท้องถิ่นมาทำความสะอาดเส้นผม ในภาคกลาง นิยมใช้มะกรูดนำมาหมกขี้เถ้าจากเตาไฟ จนผิวเป็นสีเหลืองเพื่อลดความเป็นกรด แล้วจึงคั้นนำน้ำมาสระผม

 

สมุนไพรที่นิยมอีกชนิดหนึ่งคือ ปะคำดีควาย โดยนำเมล็ดมาโขลก แล้วใช้สระผม ซึ่งเมื่อเมล็ดปะคำดีควายถูกน้ำแล้ว จะมีความลื่น จึงช่วยชำระล้างสิ่งสกปรกต่างๆ ออกจากเส้นผมได้ง่าย นอกจากนี้ ทางภาคเหนือนิยมใช้ใบกับฝักของส้มป่อย ส่วนทางภาคอีสานนิยมใช้ใบอ้ม ซึ่งมีสรรพคุณในการทำความสะอาดเส้นผมเช่นกัน

 

การอาบน้ำของชนชั้นสูงในสังคมไทย ไม่นิยมลงไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ แต่ให้บ่าวไพร่ไปตักน้ำขึ้นมาใส่ภาชนะ แล้วอาบน้ำที่ชานเรือน เรื่องวิธี และขั้นตอนการชำระล้างร่างกาย และการบำรุงผิวพรรณ จะมีความพิถีพิถันมากกว่าสามัญชน

 

หากได้อ่านบทพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ของรัชกาลที่ 2 จะเห็นธรรมเนียมการอาบน้ำของเจ้านาย ที่ใช้เวลาสรงน้ำนาน โดยเฉพาะการประทินโฉม และผิว ด้วยเครื่องสำอาง หรือเครื่องหอมต่างๆ หลากหลายขนาน เครื่องน้ำหอมประเภทต่างๆ นี้เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องใช้ของกลุ่มชนชั้นสูงมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อาทิ น้ำกุหลาบ น้ำอบฝรั่ง (Eau de Cologne) เป็นต้น

 

ในสมัยรัชกาลที่ 5 น้ำอบฝรั่ง ถือเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่ขาดไม่ได้ของเจ้านาย ซึ่งนิยมใช้น้ำอบฝรั่งเป็นส่วนประกอบในการชำระล้างร่างกาย หลังจากอาบน้ำแล้วก็ยังต้องใช้น้ำอบฝรั่งปะพรมร่างกายอีกด้วย

 

นอกจากนี้ ในวัฒนธรรมไทยยังมีการอาบน้ำที่เป็นธรรมเนียมเฉพาะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมความเชื่อ ได้แก่ประเภทแรก การอาบน้ำว่าน คือการอาบน้ำพระพุทธมนต์ ที่ผสมด้วยพืชหรือว่านมงคลชนิดต่างๆ  ซึ่งคนไทยมีความเชื่อว่า เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถสะเดาะเคราะห์ หรือสร้างสิริมงคลกับตนเอง การอาบน้ำว่านต้องทำพิธีในวัดโดยมีพระเป็นผู้ประกอบพิธี

 

ประเภทต่อมา การอาบน้ำเพ็ญ คือการอาบน้ำในช่วงเที่ยงคืนของวันเพ็ญเดือน 12 โดยนำน้ำพระพุทธมนต์ที่ได้จากวัด มาเจือมาผสมกับน้ำปกติมาอาบที่ท่าน้ำ เพื่อให้ร่างกายอาบแสงจันทร์ไปด้วย เป็นการอาบน้ำเพื่อเสริมสิริมงคลเช่นกัน