กุฏิสงฆ์

วันที่ออกอากาศ: 24 พฤศจิกายน 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

คำว่า กุฏิ หรือ กุฎี เป็นคำภาษามคธ พบในพระไตรปิฎก พระสูตร พระพุทธวจนะ หมายถึงที่อยู่ของสงฆ์

 

แต่เดิมที่เมื่อพระพุทธเจ้าทรงออกมหาพิเนษกรมณ์หรือการออกผนวช ทรงละทิ้งทรัพย์สมบัติทุกสิ่งแม้กระทั่งที่อยู่อาศัย เสด็จจาริกเพื่อทรงบำเพ็ญเพียร ต้องอาศัยตามร่มไม้ ถ้ำ ชายป่า หรือริมฝั่งน้ำเป็นที่ประทับ หลังจากทรงตรัสรู้ก็แสดงปฐมเทศนาแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 บริเวณที่ประทับในป่า ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีธรรมเนียมการสร้างที่อยู่ถวายให้พระสงฆ์ 

 

ตามพุทธประวัติ พระเจ้าพิมพิสารถวายป่าไผ่เป็นพระเวฬุวัน ถือเป็นอารามแห่งแรกในพุทธศาสนาสำหรับแสดงธรรมหรือชุมนุมสงฆ์ และใช้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้ากับพระสาวก จึงเกิด กุฎี หรือ กุฏิ เป็นครั้งแรก ซึ่งมีความกว้างยาวเพียงแค่ประทับนั่งหรือนอนได้เท่านั้น ที่เรียกว่า คันธกุฎี

 

ภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน กษัตริย์ในชมพูทวีปรุ่นหลังได้อุทิศถ้ำเป็นวิหาร อาราม และที่อยู่ของพระสงฆ์ อาทิ ถ้ำอชันต้า  ถ้ำตุนหวงในประเทศจีน ในประเทศไทยก็พบถ้ำหลายแห่งตกแต่งเป็นศาสนสถานทางพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยทรารวดี เช่น กลุ่มถ้ำฤาษีที่ราชบุรี ถ้ำเขาถมอรัฐที่เมืองศรีเทพ เป็นต้น

 

การสร้างที่อยู่สงฆ์ในลักษณะ คันธกุฎี ตามพุทธบัญญติ สามารถย้อนได้ถึงสมัยสุโขทัยพบการสร้างกุฏิขนาดที่ใช้สำหรับนั่งกับนอนได้เท่านั้น รวมถึงกุฏิสงฆ์ในวัดล้านนาโบราณซึ่งเป็นยุคร่วมสมัยกับสุโขทัย

 

แม้แต่การสร้างวิหารให้พระพุทธรูปในสมัยสุโขทัยก็สร้างเพียงในลักษณะมณฑป ซึ่งประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งอยู่ได้เพียงองค์เดียวซึ่งไม่สามารถทำพิธีกรรมในนั้นได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคติของที่อยู่สงฆ์แบบคันธกุฎี

ต่อมาภายหลัง คณะสงฆ์มีบทบาทเกี่ยวข้องกับชุมชุมเมืองมากขึ้น มีแนวคิดให้วัดเป็นศูนย์กลางของการศึกษาวิชาความรู้และเป็นศูนย์กลางของชุมชน จึงจำเป็นต้องสร้างให้วัดมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับจำนวนของพระสงฆ์

 

การสร้างที่อยู่ของสงฆ์จึงได้เปลี่ยนแปลงจนมีลักษณะของการสร้างหมู่เรือนแบบฆราวาส ซึ่งรูปแบบการสร้างวัดในสมัยหลังมักมีความเกี่ยวข้องกับฐานะทางเศรษฐกิจของผู้สร้างถวายด้วย โดยเฉพาะวัดที่สร้างโดยพระมหากษัตริย์ เจ้านายเชื้อพระวงศ์ หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ที่มีฐานมั่งคั่ง มักมีหมู่เรือนขนาดใหญ่รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในวัดด้วย

 

รวมถึงการที่พระสงฆ์มีกิจต้องประกอบพิธีกรรมต่างๆ สำหรับญาติโยม โดยเฉพาะพระสงฆ์ฝ่ายคันถธุระคือพระฝ่ายบ้าน หรือการใช้วัดเพื่อเป็นสถานศึกษา จำเป็นต้องปรับปรุงให้เรือนต่างๆ รวมทั่งกุฏิมีขนาดใหญ่โตขึ้นเพื่อรองรับการกิจกรรมเหล่านี้

 

ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการปรับปรุงกุฏิไม้ในพระอารามหลวงต่างๆ เป็นกุฏิตึก 2 ชั้น ลักษณะเดียวกับตำหนักเจ้านาย  เช่น วัดพระเชตุพน วัดราชโอรสาราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสริต วัดสุทัศนเทพวราราม วัดอรุณราชวราราม เป็นต้น ในสมัยรัชกาลที่ 4-6 ทรงโปรดให้สร้างกุฏิวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชาธิราช ในลักษณะสถาปัตยกรรมตะวันตก  

 

ในปัจจุบัน กุฏิตามหลัก คันธกุฎี คือ มีความกว้าง 3 ศอกคืบ ยาว 4 ศอก ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้เกิดความติดอยู่กับการครองเรือนได้ ยังสามารถพบเห็นในวัดป่าต่างๆ เนื่องจากความตั้งใจปฏิปทาของพระป่าคือมุ่งวิปัสสนาเพื่อบรรลุการหลุดพ้น กุฏิวัดป่าส่วนใหญ่จึงยังมีขนาดเล็กสร้างด้วยไม้หรืออาจสร้างด้วยการก่ออิฐก็ได้ มีขนาดพอใช้จำพรรษาสำหรับสงฆ์หนึ่งรูปสำหรับนั่งและนอนได้