ของดีเมืองชัยนาท

วันที่ออกอากาศ: 15 มกราคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เมืองชัยนาท มีอดีตอันยาวนานนับตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนมามีฐานะเป็นหนึ่งในเมืองลูกหลวงเมื่อครั้งสมัยอยุธยาตอนต้น และมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในฐานะศูนย์การกระจายอำนาจของเชื้อพระวงศ์อยุธยาสายสุพรรณภูมิ

 

ราชวงศ์สุพรรณภูมิมีบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ทางเครือญาติผ่านการแต่งงานของเชื้อพระวงศ์ เพื่อรวมแผ่นดินสุโขทัยเข้ากับรัฐใหม่อย่างอยุธยาเข้าเป็นแผ่นดินเดียวกัน เดิมศูนย์กลางอำนาจของสุพรรณภูมิอยู่ที่สุพรรณบุรีในปัจจุบัน ต่อมาได้กระจายอำนาจไปยังเมืองชัยนาท รวมทั้งเมืองสรรคบุรีและเมืองแพรกศรีราชา ซึ่งปัจจุบันรวมอยู่ในเขตจังหวัด

 

ถ้ามองกลุ่มเมืองชัยนาทเหล่านี้ตามพิกัดภูมิศาสตร์ ก็คือเมืองบริเวณรอยต่อระหว่างเขตแดนของสุโขทัยกับแคว้นอยุธยา ซึ่งอาจจะเป็นหน้าด่านของสุโขทัย หรือหน้าด่านของสุพรรณภูมิเดิม ความรุ่งเรืองในอดีตของชัยนาทนี้ ยังพบสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นร่องรอยที่ยืนยันได้มาจนถึงปัจจุบัน

 

วัดสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเมืองขนาดใหญ่ของชัยนาท ได้แก่ วัดธรรมามูลวรวิหาร ตั้งอยู่บนเชิงเขาริมแม่น้ำเจ้าพระยานอกเขตอำเภอเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นอารามหลวงประจำจังหวัด หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในวัดแห่งนี้ คือ ใบเสมาของพระอุโบสถ ระบุว่าเป็นเสมาแบบอยุธยาตอนต้น แกะสลักจากหินทรายแดง มีลวดลายที่ประดับบนใบเสมา ยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ เป็นหลักฐานที่ยืนยันถึงอิทธิพลของเจ้านายสายสุพรรณภูมิในพื้นที่

 

นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปปางห้ามญาติองค์ใหญ่ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อธรรมจักร ด้วยที่ฝ่าพระหัตถ์แกะสลักเป็นรูปธรรมจักร มีความพิเศษตรงพุทธลักษณะที่ก่ำกึ่งระหว่างศิลปะอู่ทองหรืออยุธยากับศิลปะสุโขทัย ส่วนพระพักตร์กับรูปร่างคล้ายกับพระพุทธรูปอู่ทอง แต่พระเศียรและพระรัศมีสะท้อนให้เห็นธรรมเนียมของการสร้างพระพุทธรูปสมัยสุโขทัยที่เรียกว่า พระอัฏฐารส ซึ่งลักษณะของพระพุทธรูปองค์นี้ก็เหมือนกับลักษณะทางภูมิรัฐศาสตร์ของเมืองชัยนาทที่แบ่งครึ่งกันได้พอดีระหว่าง 2 เมืองนี้ 

 

วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ พระบรมธาตุชัยนาท ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง เป็นพระเจดีย์ทรงปราสาทมียอดสูงใหญ่ 1 ยอด และเจดีย์ยอดเล็กๆ รายล้อม มีความสำคัญต่อประเพณีหลวงสำหรับการทำพลีกรรมตักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งมีบ่อน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ใช้ในการประกอบน้ำสงฆ์มูรธาภิเษกสำหรับพระมหากษัตริย์

 

นอกจากนี้ในบริเวณวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ โดยท่านเจ้าคุณพระชัยนาทมุนี อดีตเจ้าอาวาสได้มอบไว้ก่อนมรณภาพ กรมศิลปากรจึงจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติชัยนาทมุนีขึ้น

 

ในอำเภอสรรคบุรี ก็เป็นเมืองแต่ดั้งเดิมที่มีความสำคัญในสมัยอยุธยาตอนต้น เมืองสรรคบุรีมีวัดมหาธาตุเป็นศูนย์กลาง พระมหาธาตุที่วัดนี้เป็นพระปรางค์ ปัจจุบันได้ปรักหักพังลงแล้ว แต่ยังมีเจดีย์ที่เรียงรายเป็นแถวให้เห็นอยู่ มีลักษณะคล้ายกับเจดีย์เจ็ดแถวที่เมืองศรีสัชนาลัย มีทั้งพระเจดีย์ทรงลังกา ทรงปราสาท ตลอดจนพระปรางค์ที่เป็นเอกลักษณ์ของอโยธยา เรียกว่า ปรางค์กลีบมะเฟือง ซึ่งยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดที่สามารถหาชมได้

 

ในบริเวณวัดยังมีพระพุทธรูปเก่าลักษณะสุโขทัยอยู่ 2-3 องค์ จึงเห็นได้ว่าเป็นวัดที่ค่อนข้างใหญ่และคงมีความสำคัญในอดีตไม่น้อย 

 

ในอำเภอสรรคบุรียังมีเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัยอยู่ที่วัดโตนดหลาย ใกล้กับวัดมหาธาตุ และมีพระเจดีย์ใหญ่แบบอโยธยา เป็นพระเจดีย์ทรงลังกาที่มีฐานสูงชะลูด มีทรวดทรงงดงามมากจนกล่าวกันว่า เป็นราชินีแห่งเจดีย์ อยู่ในวัดพระแก้ว บริเวณเขตเทศบาลของอำเภอ โดยศิลปวัตถุที่มีอยู่ปะปนกันทั้งแบบอยุธยาและสุโขทัย ก็แสดงว่าสุโขทัยได้เข้ามามีบทบาทกับเมืองสรรคบุรีมากพอสมควร 

 

ในจังหวัดชัยนาทไม่ได้มีเพียงวัดหรือโบราณสถานเท่านั้น ยังมีเขื่อนเจ้าพระยาที่น่าเที่ยวชมและมีร้านอาหารอร่อยอยู่หลายแห่ง ของดีเมืองชัยนาทอีกอย่างก็คือ ส้มโอขาวแตงกวา มีรสชาติอร่อยมาก