ขันน้ำในวัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 18 มีนาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ขัน หรือ ขันน้ำ เป็นอุปกรณ์เครื่องใช้คู่ครัวเรือนไทยมาช้านาน จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต และวัฒนธรรมไทยมาจนถึงปัจจุบัน สันนิษฐานว่า คนไทยรับเอาวัฒนธรรมการใช้ขันมาจากอินเดีย ซึ่งมีลักษณะการใช้สอยประโยชน์ของขันคล้ายคลึงกัน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ตักน้ำ บรรจุน้ำ รวมถึงใช้ใส่ข้าวปลาอาหารต่างๆ ด้วย

 

ขันที่ใช้กันในสังคมมีมากมายหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดใหญ่ที่สุด เรียกว่า ขันสาคร ซึ่งมีขนาดที่สามารถบรรจุเด็กเล็กลงไปได้ จนถึงขนาดที่เล็กที่สุด เรียกว่า จอก สำหรับตักน้ำพอคำจากหม้อบรรจุน้ำมารับประทาน ในการผลิตขัน สามารถผลิตได้ด้วยวัสดุต่างๆ มากมาย ได้แก่ เงิน ทอง สัมฤทธิ์ ทองแดง ทองเหลือง อลูมิเนียม สแตนเลส หรือที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ พลาสติก 

 

นอกจากประโยชน์ใช้สอยของขันแล้ว ขันยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงฐานะของผู้เป็นเจ้าของด้วย ในสมัยก่อนเมื่อถึงเวลาตักบาตรตอนเช้านั้น แต่ละบ้านก็จะจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ บรรจุอาหารสำหรับใส่บาตร ซึ่งนิยมใช้ขันขนาดใหญ่ใส่ข้าวสวย หากเป็นบ้านของขุนนาง คหบดี เศรษฐี หรือผู้ดีต่างๆ จะใช้ขันเงินขนาดใหญ่ที่มีราคา รวมถึงทัพพี ถาดรอง พานรอง ที่ทำจากเงินให้เข้าชุดกัน จนกลายเป็นการประกวดประขันกันของแต่ละบ้าน ขันข้าวจึงกลายเป็นสิ่งบ่งบอกฐานะของครอบครัว

 

นอกจากนี้ ขันอาบน้ำที่เป็นของใช้ส่วนตัว ซึ่งคนสมัยก่อนไม่ใช้ปะปนกับคนอื่นๆ ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกฐานะของบุคคลด้วยเช่นกัน ขันอาบน้ำสำหรับผู้มีอันจะกิน มักนิยมใช้ขันที่ถมเงินถมทอง ที่เรียกว่า ขันถม ซึ่งเป็นของดีมีราคา  

 

การใช้ขันเป็นสิ่งแสดงฐานะในสังคมไทย มีที่มาจากวัฒนธรรมของกลุ่มชนชั้นสูง ซึ่งมีธรรมเนียมการทำขันเป็นเครื่องประกอบอิสริยายศอย่างหนึ่ง ทั้งลักษณะของขันสรงพระพักตร์ ขันน้ำเสวย หม้อน้ำเสวย ซึ่งใช้ศิลปะในการตกแต่งลวดลาย ให้ขันมีความวิจิตรสวยงามแตกต่างกันไปตามยศถาบรรดาศักดิ์

 

ตั้งแต่ที่เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยายศของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี พระอิสริยายศพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเจ้านายลำดับชั้นต่างๆ ลงมาจนกระทั่ง ขันประกอบยศของเสนาบดีขุนนางชั้นผู้ใหญ่

 

ในสังคมไทยยังใช้ขันประกอบพิธีกรรมต่างๆ มาตั้งแต่โบราณด้วย อย่างพิธีกรรมราชสำนักที่มีความสำคัญยิ่ง คือ พิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นพิธีสำหรับขุนนางแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ โดยใช้พระแสงแทงลงไปในน้ำ ทำให้กลายเป็นน้ำพิพัฒน์สัตยา มีพราหมณ์เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ซึ่งน้ำจะบรรจุอยู่ในขันขนาดใหญ่ เป็นขันลงหินที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ โดยทำจากทองเหลืองหรือสัมฤทธิ์ ตกแต่งด้วยการลงยาหรือลงถมเป็นลวดลายต่างๆ  ซึ่งเชื่อว่าการใช้ขันลงหิน จะทำให้ประกอบพิธีกรรมเกิดความศักดิ์สิทธิ์ 

 

นอกจากนี้ ขันยังมีความเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในวิถีชีวิตของคนไทย ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่เด็กมีอายุครบเดือนก็พิธีทำขวัญเดือน โดยใช้ขันสาครขนาดใหญ่ ใส่เด็กทารกเพื่ออาบน้ำทำขวัญ พิธีแห่ขันหมากที่แต่เดิมจะนิยมนำสินสอดทองหมั้นใส่ไว้ในขัน ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า ขันหมาก

 

ในพิธีทำบุญตักบาตร ก็ใช้ขันใส่ข้าวสุก หรือสำรับอาหารสำหรับใส่บาตรพระสงฆ์ จนมาถึงพิธีกรรมสุดท้ายของชีวิตคือ พิธีกรรมงานศพ ก็ใช้ขันในการรดน้ำศพ รวมทั้งใช้ขันใส่น้ำอบสำหรับพรมตอนเก็บอัฐิหลังการฌาปนกิจ