ความรู้ที่ได้จากร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก

วันที่ออกอากาศ: 23 กันยายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในช่วงออกพรรษา มีธรรมเนียมการเทศน์อย่างหนึ่งที่เรียกว่า เทศน์มหาชาติ หรือหากเป็นของพิธีหลวง จะเรียกว่า เทศน์มหาชาติทำนองหลวง ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับการบำเพ็ญกุศลของพระเวสสันดร ซึ่งเป็นพุทธประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย ก่อนประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ มีบทเทศน์ด้วยกันทั้งสิ้น 13 กัณฑ์ โดยเรียกอย่างเป็นทางการว่า ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก

 

ร่ายยาวมหาเวสสันดรชาดก มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในรัชกาลของพระเจ้าทรงธรรม โปรดให้แต่งเรื่องเวสสันดรชาดกเป็นคำประพันธ์ สำหรับราชบัณฑิตใช้สวดในเทศกาลเข้าพรรษา ประกอบด้วยร่าย และกาพย์ ปะปนกันเป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญ เรียกว่า กาพย์มหาชาติ ซึ่งไม่ได้ใช้สำหรับการเทศน์มหาชาติอย่างในปัจจุบัน

 

จนมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหน้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีพระราชดำริให้แต่งเรื่องมหาชาติ สำหรับพระสงฆ์ใช้แสดงพระธรรมเทศนาที่เรียกว่า เทศน์มหาชาติ ทรงเห็นว่า กาพย์มหาชาติที่แต่งในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม และบทเทศน์มหาชาติแบบร่ายยาวสำนวนอื่นๆ ในสมัยอยุธยา คงสูญหายหรือกระจัดกระจายไป ก็โปรดให้มีการประชุมกวี เพื่อประพันธ์บทเทศน์มหาชาติทำนองหลวง ซึ่งต้องอาศัยความสามารถทางด้านภาษา และความรู้เกี่ยวกับพุทธประวัติเป็นอย่างดี

 

กวีคนสำคัญที่มีบทบาทในการประพันธ์ ได้แก่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระนิพนธ์ กัณฑ์จุมพล กัณฑ์มหาราช กัณฑ์ฉกษัตริย์ และนครกัณฑ์ พระเทพมุนี (ด้วง) ประพันธ์กัณฑ์ชูชก พระเทพโมลี (กลิ่น) ประพันธ์กัณฑ์มหาพล เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ประพันธ์กัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี เป็นต้น

 

เทศน์มหาชาติคำหลวง ถือเป็นวรรณคดีชั้นสูงของไทยที่มีคุณค่ายิ่ง นอกจากเนื้อหาที่ให้ความรู้ด้านพุทธศาสนาแล้ว การใช้คำศัพท์ และภาษาที่งดงามในการเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ก็เป็นประโยชน์ยิ่งต่อผู้สนใจ และศึกษาการใช้ภาษาในวรรณคดีไทย นอกจากนี้ ยังได้สอดแทรกความรู้ทางโลกต่างๆ ที่มีประโยชน์ในบทประพันธ์ด้วย ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับพันธุ์พืชของไทยในกัณฑ์จุลพน และกัณฑ์มหาพน ซึ่งบรรยายสภาพของป่าหิมพานต์ โดยใช้บริบทของพันธุ์พืชไทยเป็นองค์ประกอบ ตัวอย่างเช่น

 

ยังรุกขชาติที่ชายเชิงเขาเป็นคันเขต กอบด้วยเบญโกศเกษกฤษณากรรณิกาแกมกะพุดดง เหล่ามลุลีแลกาหลงกุหลาบล้วนลำดวนดอกดูสร่าง

 

หรือ

 

สัปพประดู่ หมู่ตะเพา ตะแบก เบญจบานไสว รังรุกขลำไยประโยมแย้มสายหยุดแลยมโดย แต่ล้วนหล่นลงร่วงโรยรายดอกลงมูลมอง 

 

ความรู้เรื่องขนมไทยนานาชนิดในกัณฑ์ชูชก ซึ่งนางอมิตตาดาจัดขนมแห้งต่างๆ ใส่ย่าม ให้ชูชกเก็บไว้บริโภคระหว่างเดินทางไปเฝ้าพระเวสสันดร มีทั้งขนมแข็งเป็นก้อนกัด งาตัดข้าวตอกคั่ว ถั่วงาแลแดดงา ขนมรำเรเร่ฉ่ำ ขนมเทียนทำทั่วทุกสิ่ง รวมถึงขนมผิงหินฝนทอง ข้าวตู ข้าวตาก ข้าวตัง ที่เป็นขนมขบเคี้ยวของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน 

 

นอกจากนี้ กัณฑ์กุมารก็ให้ความรู้เรื่องเครื่องดนตรีไทยชนิดต่างๆ ในตอนที่เหล่านางสนมกำนัลบรรเลงดนตรีขับกล่อมให้พระเจ้ากรุงสญชัย รวมถึงความรู้เรื่องเรือสำเภาโบราณ ตอนที่พระเวสสันดรเปรียบเทียบพระชาลี พระกันหา เป็นเหมือนมหาสำเภาทองที่จะนำพระองค์ข้ามองคสงสารไปได้ ซึ่งเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ได้แจกแจงองค์ประกอบของเรือสำเภาได้อย่างชัดเจน

 

ในกัณฑ์ฉกษัตริย์ ก็ให้ความรู้เรื่องขั้นตอนของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกกษัตริย์ ซึ่งเป็นตอนที่พระเจ้ากรุงสญชัยเชิญพระเวสสันดรกลับมาครองราชย์ แล้วทำพิธีราชาภิเษกอีกครั้ง รวมถึงความรู้เกี่ยวกับเพชรนิลจินดาชนิดต่างๆ ที่ตกแต่งเครื่องอาภรณ์ของกษัตริย์ด้วย