ความสำคัญของพระมณเฑียรธรรม

วันที่ออกอากาศ: 19 ตุลาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

หอพระมณเฑียรธรรม เป็นอาคารสถานสำคัญแห่งหนึ่งในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชตั้งแต่แรกสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งคนส่วนใหญ่เข้าใจว่ามีฐานะเสมือนเป็นหอไตร หมายถึงหอเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก ซึ่งถือเป็นอาคารสำคัญหนึ่งในเป็นองค์ประกอบของวัดในประเทศไทย

 

แต่อันที่จริงหอพระมณเฑียรธรรมไม่ได้มีแต่เฉพาะในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ยังพบว่าในสมัยอยุธยา ภายในวัดพระศรีสรรเพชรก็มีวิหารในชื่อเดียวกันและใช้ในบทบาทหน้าที่เดียวกันกับหอพระมณเฑียรธรรม จึงแสดงให้เห็นว่าหอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นการสืบธรรมเนียมมาจากวัดพระศรีสรรเพชร และไม่ได้มีความสำคัญในฐานะหอไตรเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกเท่านั้น

 

โดยทั่วไป หอไตรเป็นอาคารขนาดเล็กพอให้ภิกษุสามเณรขึ้นไปเปิดตู้หนังสือค้นคว้าคัมภีร์ได้ แต่หอพระมณเฑียรธรรมทั้งในวัดพระศรีสรรเพชรและวัดพระศรีรัตนศาสดารามกลับสร้างเป็นวิหารขนาดใหญ่ หอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารางสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 1 ประมาณปี 2332 ซึ่งไม่ได้ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ เป็นฉบับที่ได้รับการสังคายนาในรัชกาลที่ 1 แต่โปรดเกล้าให้สร้างพระมณฑปประดิษฐานไว้บนฐานไพทีใกล้ๆ กับพระอุโบสถ ปัจจุบันนี้พระมณฑปองค์นี้ขนาบด้วยพระศรีรัตนเจดีย์และพระพุทธปรางค์ปราสาท (ปราสาทพระเทพบิดร)

 

ส่วนหอพระมณเฑียรธรรมสร้างอยู่ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของวัดพระแก้ว ภายในหอพระมณเฑียรธรรมมีตู้พระธรรมศิลปะอยุธยาและศิลปะรัตนโกสินทร์จำนวนหลายตู้ ใช้ประดิษฐานคัมภีร์พระไตรปิฎกที่เรียกกันว่า "ฉบับครูเดิม" ซึ่งรวบรวมมาจากหัวเมืองต่างๆ มาตั้งแต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

จากข้อมูลต่างๆ พบว่าหอพระมณเฑียรธรรมมิได้มีหน้าที่เพียงแค่ใช้เก็บพระไตรปิฎกฉบับเก่าเท่านั้น การที่สร้างอาคารเป็นวิหารขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ใช้สอยมากและมีระเบียงให้เดินได้โดยรอบ อีกทั้งตัวอาคารยังถือเป็นสถาปัตยกรรมชั้นเยี่ยมหลังหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 1 ที่ได้สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาถ นำช่างสกุลวังหน้ามาร่วมสร้างหอพระมณเฑียรนี้ด้วย ย่อมสะท้อนให้ถึงภารกิจหน้าที่สำคัญในการใช้สอยอาคารหลังนี้

 

นั้นคือการใช้เป็นสถานที่ทำงานของราชบัณฑิตทางพระพุทธศาสนา หมายถึงบัณฑิตผู้รู้ธรรมในพุทธศาสนา ผู้ที่เคยบวชเรียนจนสำเร็จเปรียญแต่ได้ลาสิขาออกมา ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินในสมัยอยุธยาก็โปรดเกล้าให้มารับราชการแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตประจำกรมสังฆการี มีหน้าที่บอกหนังสือพระสงฆ์หรือสอนหนังสือแก่พระสงฆ์ที่รับการคัดเลือกให้มาเรียนเปรียญ

 

นอกจากนี้ หอพระมณเฑียรธรรมยังเป็นสถานที่แปลพระราชสาสน์และเอกสารทางฑูตต่างๆ รวมถึงการจารึกพระราชสาสน์ลงแผ่นทองคำ จึงเป็นสถานที่ทำงานของอารัก คล้ายๆ เป็นหน่วยงานสารบรรณที่เกี่ยวกับการโต้ตอบจดหมายทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

จวบจนสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา บทบาทของหอพระมณเฑียรธรรมได้ลดความสำคัญลง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้สร้างเก๋งบอกพระปริยัติธรรมนอกระเบียงคตของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อใช้สอนหนังสือสำหรับภิกษุสามเณรแทน เพื่อรองรับจำนวนผู้เรียนเพิ่มมากขึ้น

 

สำหรับงานด้านพระราชสาสน์การฑูตซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ภายหลังก็มีการตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบเป็นกิจลักษณะ ปัจจุบัน หอพระมณเฑียรธรรมเป็นสถานที่จัดเก็บพระไตรปิฎกฉบับครู รวมถึงเป็นที่เก็บรักษาศิลปะวัตถุสำคัญ ได้แก่ บานประตูประดับมุกที่มีลวดลายที่วิจิตรงดงาม ซึ่งเป็นบานประตูเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา