ความสำคัญของวัฒนธรรมทวารวดี

วัฒนธรรมไทยสยาม เป็นวัฒนธรรมที่อิงอยู่บนพื้นฐานของพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ ซึ่งเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมหลายๆ แขนงในภาคกลางของประเทศไทย หลายคนมองว่าวัฒนธรรมไทยสยามได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมต่างๆ จากภายนอก อาทิ อินเดีย ลังกา หรือแม้แต่เขมร ซึ่งได้หล่อหลอมมาเป็นวัฒนธรรมของไทยภาคกลาง

 

แต่จริงๆ แล้ว คนไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมของตนขึ้น บนรากฐานของวัฒนธรรมเดิมที่เคยเจริญรุ่งเรืองบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งตอนบนและตอนล่าง รวมทั้งในบริเวณรอบๆ อ่าวไทยตอนบน ซึ่งก็คือวัฒนธรรม ทวารวดี 

 

ทวารวดี เป็นวัฒนธรรมแรกๆ ที่ปรากฏในพื้นที่บริเวณรอบอ่าวไทย เป็นวัฒนธรรมที่บูรณาการอิทธิพลของอารยธรรมอินเดียเข้ามาผสมผสาน จนเกิดเป็นรูปแบบวัฒนธรรมเฉพาะของคนพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มต้นราวพุทธศตวรรษที่ 7 แล้วมีความเจริญรุ่งเรืองจนถึงพุทธศตวรรษที่ 13-14 จากนั้นก็เริ่มเสื่อมลงหลังจากพุทธศตวรรษที่ 15 ไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 โดยวัฒนธรรมเขมรได้เข้ามามีอิทธิพลในพื้นที่แทน

นักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่า ทวารวดี เป็นชื่อของรัฐหรืออาณาจักรที่มีระบบปกครองแบบอินเดีย โดยสันนิษฐานการมีอยู่ของหน่วยการเมืองนี้จากหลักฐานลายลักษณ์อักษรเป็นเครื่องยืนยัน โดยเฉพาะหลักฐานจากบันทึกสมัยราชวงศ์ถังของจีน ประมาณพุทธศตวรรษที่ 8–9

 

นอกจากนี้ ยังพบจารึกที่ด้านหลังของเหรียญกษาปณ์ มีข้อความภาษาสันสกฤตว่า ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ หมายถึง ผู้มีบุญกุศลของพระผู้เป็นเจ้าแห่งทวารวดี ซึ่งแสดงถึงการมีกษัตริย์ปกครองรัฐที่ชื่อทวารวดี 

 

ส่วนนักวิชาการอีกกลุ่มกลับมองว่าความมีตัวตนของทวารวดีในฐานะรัฐไม่ได้มีความสำคัญ แต่ให้ยอมรับทวารวดีในฐานะวัฒนธรรมสำคัญที่มีอิทธิพลต่อชุมชนต่างๆ รอบอ่าวไทย โดยส่งผ่านวัฒนธรรมพุทธศาสนากระจายทั่วบริเวณที่ราบลุ่มแม้น้ำเจ้าพระยา ไปจนถึงรอยต่อที่ราบสูงโคราชและบางส่วนของคาบสมุทรภาคใต้ ทั้งนี้ วัฒนธรรมพุทธศาสนาสมัยทวารวดีก็มีความหลากหลาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะเถรวาทแบบลังกาเท่านั้น 

 

วัฒนธรรมทวารวดีมีศิลปะในลักษณะเฉพาะ เราพบศิลปวัตถุแบบทวารวดีจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันตก รวมทั้งภาคใต้ตอนบนบางส่วน โดยเฉพาะพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ถือเป็นศิลปวัตถุที่แสดงออกถึงเอกลักษณ์ทางศิลปะแบบทวารวดีที่ชัดเจนที่สุด มักสร้างในปางประทับนั่งห้อยพระบาท พระวรกายค่อนข้างท้วม มีลักษณะเฉพาะของพระพักตร์ เช่น พระขนงตอบเป็นปีกกา พระโอษฐ์หนา พระเนตรโปน ขมวดเส้นพระเกศาโต พระพักตร์ยังไม่ได้เป็นรูปไข่ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ก็มีภาพลายปูนปั้นรูปชาดกในคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความหลากหลายของวัฒนธรรมพุทธศาสนาในทวารวดี โดยเฉพาะภาพปูนปั้นรูปชาดกที่พระเจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม พบการเรียงลำดับเรื่องราวตามแบบ มูลสรรวาสติวาท ซึ่งเป็นนิกายเถรวาทสายหนึ่งที่ไม่ได้มาจากลังกา 

 

เราสามารถพบร่องรอยเมืองโบราณของทวารวดีได้ในหลายพื้นที่ เช่น บ้านคูเมืองที่สิงห์บุรี เมืองจันเสน เมืองโคกไม้เดน ที่จังหวัดนครสวรรค์ เมืองอู่ทองที่สุพรรณบุรี เมืองคูบัวและเมืองโบราณนครปฐม แหล่งโบราณคดีทุ่งเศรษฐี จังหวัดเพชรบุรี เมืองเสมาที่นครราชสีมา

 

การกระจายของวัฒนธรรมทวารวดีในวงกว้างนี้ สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองของทวารวดีในยุคนั้น และเป็นรากฐานสำคัญต่อวัฒนธรรมพุทธศาสนาในพื้นที่ภาคกลางของไทย นับตั้งแต่สมัยอยุธยามาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน