ความสำคัญของศรีสัชนาลัย

วันที่ออกอากาศ: 2 พฤศจิกายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

เมืองศรีสัชนาลัย เป็นหนึ่งในเมืองศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยร่วมกับเมืองสุโขทัย ซึ่งสมัยสุโขทัยใช้ระบบการบริหารบ้านเมืองในลักษณะเมืองคู่ ปัจจุบันศรีสัชนาลัยเป็นชื่ออำเภอหนึ่งของจังหวัดสุโขทัย แต่ตัวเมืองเดิมของศรีสัชนาลัยสมัยสุโขทัยนั้น ตั้งอยู่บริเวณรอยต่อของอำเภอศรีสัชนาลัยกับอำเภอสวรรคโลก ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแม่น้ำยมไหลผ่าน

 

จากหลักฐานการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า พื้นที่บริเวณนี้มีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์มาอย่างน้อย 3,000 ปี ได้ขุดพบหลุมฝังศพ เครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ตั้งแต่ยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคโลหะ และยุคเหล็ก และพบว่าเป็นแหล่งอารยธรรมมนุษย์ซึ่งผ่านความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมมาหลายยุคสมัยต่อเนื่องกันมา

 

ตั้งแต่วัฒนธรรมทวารวดี ผ่านมาสู่ยุคอาณาจักรขอมโบราณ ซึ่งพบหลักฐานทางสถาปัตยกรรมมากมายที่เป็นเทวสถานสมัยขอม อาทิ พระปรางค์ที่วัดเจ้าจันทร์ พระปรางค์ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเชลียง ซึ่งอยู่ในตัวเมืองดั้งเดิมก่อนยุคสถาปนาอาณาจักรสุโขทัย ก่อนมีการขยายเมืองไปทางทิศเหนือและสถาปนาเมืองศรีสัชนาลัยใหม่ขึ้นในสมัยสุโขทัย 

 

จากข้อมูลที่ได้จากจารึกต่างๆ สะท้อนว่าเมืองศรีสัชนาลัยมีความสำคัญรองลงไปจากกรุงสุโขทัย โดยเป็นเมืองที่ประทับของพระมหาอุปราชซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญรองจากพระมหากษัตริย์ หรือเป็นที่ประทับของพระอนุชาพระเจ้าแผ่นดินก็ได้

 

เมืองศรีสัชนาลัยมีขนาดย่อมลงจากกรุงสุโขทัยแต่มีการวางผังเมืองอย่างดี โดยใช้เขาพนมเพลิงเป็นศูนย์กลางของเมืองซึ่งเป็นสูงสามารถใช้เป็นที่สังเกตการณ์ ที่ราบรอบเขาเป็นที่ตั้งถิ่นฐานของชาวเมือง มีการสร้างกำแพงคูเมืองล้อมรอบ ภายนอกกำแพงเมืองเป็นพื้นที่เพาะปลูก ถัดออกไปมีแนวเทือกเขาล้อมรอบอาณาบริเวณอีกชั้นกลายเป็นปราการทางธรรมชาติ

 

เมืองศรีสัชนาลัยจึงมีความสำคัญด้านความมั่นคงของอาณาจักร และเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยต่อมาจนถึงอาณาจักรอยุธยา โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงใช้เมืองศรีสัชนาลัยเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการป้องกันการรุนรานจากแคว้นล้านนา 

 

ในตัวเมืองศรีสัชนาลัยมีวัดสำคัญๆ หลายแห่ง สะท้อนให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ภายใต้การอุปถัมภ์ของกษัตริย์สมัยสุโขทัย อาทิ วัดช้างล้อม ซึ่งถือเป็นวัดพระมหาธาตุตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีพระเจดีย์ทรงลังกาขนาดใหญ่ก่อจากศิลาแลงประดับด้วยรูปช้างปูนปั้นล้อมรอบ

 

วัดเจดีย์เจ็ดแถว ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดช้างล้อม มีสถาปัตยกรรมเจดีย์รูปแบบต่างๆ ทั้งแบบศิลปะขอม ศิลปะล้านนา ศิลปะพุกามของพม่า พระเจดีย์องค์ที่เป็นประธานสร้างสรรค์โดยช่างสุโขทัยในรูปแบบที่เรียกว่า พระเจดีย์ทรงดอกบัวตูม หรือ พระเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่สำหรับเก็บพระอัฐิของเจ้านายฝ่ายศรีสัชนาลัย จึงได้สร้างพระเจดีย์จำนวนมากในลักษณะเจดีย์ราย

 

นอกจากนี้ ยังมี วัดนางพญา ซึ่งมีภาพลายปูนปั้นประดับผนังวิหารที่งดงามมาก 

 

เมืองศรีสัชนาลัยในอดีต ยังเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเครื่องถ้วยสังคโลกขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณรอบนอกกำแพงเมืองในบริเวณที่เรียกกันว่า เตาป่ายาง และ เตาเกาะน้อย ซึ่งการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีทำให้พบเตาเผาเครื่องถ้วยสังคโลกโบราณจำนวนมากในบริเวณพื้นที่ริมแม่น้ำยม กรมศิลปากรจึงได้เข้าไปอนุรักษ์และจัดสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งเตาเผาที่ยังไม่ได้ดำเนินการขุดค้นอีกเป็นจำนวนมาก