ความสำคัญของหน้าบัน

วันที่ออกอากาศ: 26 สิงหาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

หน้าบัน เป็นองค์ประกอบหนึ่งในโครงสร้างหลังคาของอาคารสถาปัตยกรรมไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนิยมสร้างหลังคาในรูปทรงสามเหลี่ยมที่มีความลาดเอียงและมีเพดานสูงโปร่งโล่ง อันตอบสนองต่อสภาพภูมิอากาศของภูมิภาค ทั้งนี้ ความลาดเอียงของหลังคาจะช่วยระบายน้ำฝนในฤดูฝน และพื้นที่ภายในหลังคาจะช่วยระบายความร้อนในฤดูร้อน

 

ลักษณะของหลังคาสามเหลี่ยมจะทำให้เกิดช่องว่างด้านหน้าและด้านหลัง ดังนั้น เพื่อป้องกันน้ำฝนสาดและป้องกันสัตว์ต่างๆ ไม่ให้เข้ามาทำรังอาศัย จึงจำเป็นต้องทำหน้าจั่วปิดทึบช่องว่างดังกล่าว ซึ่งในการก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรมของชนชั้นสูง อาทิ โบสถ์ วิหาร ศาลา หรือตำหนักที่ประทับต่างๆ มักนิยมตกแต่งลวดลายให้กับหน้าจั่วเพื่อความสวยงาม โดยเรียกหน้าจั่วที่ตกแต่งลวดลายแล้วว่า หน้าบัน    

 

วิวัฒนาการของหน้าบันมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ เห็นได้จากโบราณสถานสมัยขอมที่สร้างขึ้นมาก่อนการเกิดรัฐของประชาคมคนไทย อาทิ ปราสาทหิน เทวาลัย เทวสถาน ซึ่งใช้หิน อิฐ หรือศิลาแลงในการก่อสร้างอาคาร

 

มีการตกแต่งหน้าบันด้วยการแกะสลักลงไปในเนื้อหิน เนื้ออิฐ หรือศิลาแลง โดยนิยมทำลวดลายเป็นรูปเทพเจ้าต่างๆ ในศาสนาพราหมณ์ เช่น พระอิศวร พระวิษณุหรือพระนารายณ์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ หรือเรื่องราวในมหากาพย์ต่างๆ เช่น มหาภารตะ รามเกียรติ์ เป็นต้น

 

หลังจากที่ประชาคมคนไทยรวมตัวก่อตั้งรัฐขึ้น ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา นิยมสร้างอาคารสถาปัตยกรรมต่างๆ ด้วยไม้ หน้าบันจึงถูกสร้างขึ้นด้วยไม้ด้วย โดยใช้เทคนิคการแกะสลักมาตกแต่งลวดลาย ซึ่งในช่วงแรกนิยมแกะสลักเป็นลวดลายพรรณพฤกษาต่างๆ ที่ค่อนข้างเรียบง่าย ตัวอย่างของหน้าบันไม้ในสมัยสุโขทัยที่สามารถเห็นได้ในปัจจุบันคือ หน้าบันของวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุฯ จังหวัดพิษณุโลก  

 

ต่อมาในสมัยอยุธยาจึงทำลวดลายหน้าบันที่วิจิตรงดงามมากยิ่งขึ้น โดยนิยมแกะสลักเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ จนมาในสมัยของรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 3 โครงสร้างหลังคาอาคารต่างๆ นิยมก่อสร้างด้วยอิฐหรือปูน การตกแต่งหน้าบันได้รับอิทธิพลศิลปะของจีนโดยนำกระเบื้องหรือเครื่องกังไสของจีนมาตกแต่งลวดลายเป็นรูปสิ่งของหรือสัตว์มงคลต่างๆ ของจีน เช่น รูปดอกโบตั๋น ซึ่งเป็นดอกไม้มงคลของจีน ต่อมานิยมตกแต่งเป็นรูปพระปรมาภิไธยย่อของพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อบ่งบอกถึงผู้สร้างหรือผู้อุปถัมภ์ของวัดนั้นๆ

 

วัตถุประสงค์ของการสร้างหน้าบันนั้น เพื่อบ่งบอกถึงฐานานุศักดิ์ ความสำคัญ และประวัติความเป็นมาของสิ่งก่อสร้าง ด้วยเป็นขนบธรรมเนียมของการก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรมในสังคมไทยที่นิยมแสดงให้เห็นถึงฐานันดรศักดิ์ของผู้เป็นเจ้าของ ซึ่งจะตกแต่งองค์ประกอบของสิ่งก่อสร้างรวมถึงหน้าบันให้มีความวิจิตรงดงามแตกต่างกันตามฐานะ

 

สังเกตได้ว่าอาคารในเขตพระราชทาน เช่น พระที่นั่ง ตำหนัก วังที่ประทับของเจ้านาย หรืออาคารที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอย่างเช่น โบสถ์ วิหาร กุฏิ ศาลา โดยเฉพาะในวัดหลวงสำคัญๆ มีการตกแต่งลวดลายหน้าบันให้วิจิตรงดงามและอลังการมากกว่าสิ่งก่อสร้างของสามัญชน ทั้งในเรื่องเทคนิคการตกแต่ง ความชำนาญของช่างฝีมือ และการออกแบบลวดลายที่มีความซับซ้อน ตลอดจนการอัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ หรือตราประจำพระองค์ ไปประดิษฐานเป็นลวดลายหน้าบัน

 

สำหรับสิ่งก่อสร้างของสามัญชนอย่าง ส่วนใหญ่จะไม่มีการแกะสลักตกแต่งหน้าจั่ว มักนิยมใช้แผ่นไม้ต่อกันเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่วเรียบๆ หรือหากเป็นวัดวาอารามของของราษฎรมักนิยมแกะสลักตกแต่งหน้าบันเป็นลวดลายง่ายๆ เช่น ลายกนก ลายพรรณพฤกษา เป็นต้น