ความสำคัญของเดือนหกในวัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 20 พฤษภาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เดือนหกตามปฏิทินทางจันทรคติ คือ ช่วงเวลาตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 จนถึงแรม 15 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปฏิทินเกรโกเรียนที่ใช้ในปัจจุบันจะอยู่ในช่วงประมาณปลายเดือนเมษายนจนถึงต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณให้ความสำคัญกับเดือนหกเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ฤดูฝนกำลังเริ่มต้นขึ้น

 

การที่สังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมจึงได้ถือเอาเดือนหกเป็นฤดูเริ่มต้นการเพาะปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกข้าวที่เป็นอาหารหลักในการดำรงชีวิตของคนไทย โดยสามารถนำน้ำฝนมาใช้ในการปลูกข้าวและพืชพันธ์ธัญญาหารอื่นๆ ได้อย่างบริบูรณ์ นอกจากนี้ ในเดือนหกจะมีประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูณ์ต่างๆ มากมายด้วย  

 

ธรรมเนียมประเพณีในเดือนหกที่เกี่ยวกับการปลูกข้าว ได้แก่ การแรกนา หรือที่ในภาษาท้องถิ่นอีสานเรียกว่า นาตาแฮก ซึ่งเป็นประเพณีโบราณแต่ดั่งเดิมของผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์ เป็นการทดลองทำนาในแปลงจำลองก่อนเริ่มต้นเพาะปลูกจริง เพื่อให้ผีบรรพบุรุษหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือได้เห็นและขอพรให้การทำนาในปีนั้นสำเร็จราบรื่น

 

ต่อมาเมื่อคติตามศาสนาจากอารยธรรมอินเดีย โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อสังคมต่างๆ ในภูมิภาค จึงเกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบประเพณีแรกนาในกลุ่มชนชั้นสูง ซึ่งมีสถานภาพเป็นผู้ปกครองที่จะต้องสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับบ้านเมือง กลายมาเป็นประเพณีหลวงที่เรียกว่า พิธีจรดพระนังคัล เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจให้กับไพร่บ้านพลเมืองทั้งหลาย

 

พิธีจรดพระนังคัลนี้ถือเป็นประเพณีสำคัญในเดือนหก ซึ่งเป็นประเพณีแรกในประเพณีสำคัญ 12 เดือนของราชสำนักด้วย นอกจากนี้ ประเพณีการปลูกข้าวที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติในสังคมไทยมาตั้งแต่โบราณ อาทิ พิธีทำขวัญแม่โพสพ การทำขวัญโค เป็นต้น

 

หากในปีใดฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล โดยเฉพาะเมื่อถึงเดือนหกแล้วฝนยังไม่มา ซึ่งคาดหมายได้ว่าจะเกิดความแห้งแล้งและน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกตลอดปี คนโบราณเชื่อว่าต้องทำพิธีกรรมเพื่อเรียกหรือร้องขอให้ฝนตกลงมา การทำพิธีขอฝนถือเป็นธรรมเนียมที่ทำกันมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ โดยพบร่องรอยของภาพเขียนผนังถ้ำและศิลปวัตถุในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ กลองมโหระทึก ซึ่งมีหน้ากลองเป็นรูปกบหรือคางคก โดยเชื่อว่ากบเป็นสัตว์ที่มีอิทธิฤทธิ์ในการเรียกฝน จนมีความเชื่อมาถึงปัจจุบันที่ว่า ฝนตกเพราะกบร้อง เนื่องจากเวลาฝนตกมักพบกบหรือคางคกอยู่ทั่วไป

 

ต่อมาเมื่อมีคติทางศาสนาพราหมณ์และพุทธศาสนาเข้ามา จึงได้มีพิธีกรรมที่แสดงความบูชาต่อพระพิรุณ เทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ที่มีอิทธิฤทธิ์เรื่องฝนฟ้า หรือการบูชาพระคันธราชที่เป็นความเชื่อเรื่องพุทธานุภาพที่สามารถบันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาลได้ นอกจากนี้ ยังมีพิธีขอฝนตามคติความเชื่อท้องถิ่นที่ยังคงปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน อาทิ พิธีแห่นางแมวในภาคเหนือ พิธีทำบุญบั้งไฟพญานาคในภาคอีสาน เป็นต้น 

 

เดือนหก ยังเป็นเดือนที่มีวันสำคัญทางพุทธศาสนา คือ วิสาขปุณณมี หรือ วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน รวมถึงวันอัฐมีบูชา ซึ่งเป็นวันถวายพระเพลิงพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าหลังจากปรินิพพาน 7 วัน

 

วันวิสาขบูชาถือเป็นวันที่สังคมไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยจะมีธรรมเนียมพิธีกรรมต่างๆ ตลอดทั้งวันเพื่อเป็นการรำลึกถึงพระพุทธคุณ อาทิ การทำบุญ การเวียนเทียน การฟังเทศน์ เป็นต้น รวมทั้งราชสำนักไทยจะมีการประกอบพิธีกรรมเป็นพิธีหลวงในวันวิสาขบูชาด้วย ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาตั้งแต่ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2