ความเชื่อเรื่องน้ำท่วมในวัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 8 มกราคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 ที่เรียกว่า มหาอุทกภัย ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย จริงๆ แล้ว สังคมไทยผูกพันกับเรื่องน้ำท่วมมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยหากศึกษาเอกสารประวัติศาสตร์ต่างๆ ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา ทั้งบันทึกของคนไทยเราหรือของคนต่างชาติ จะพบการอ้างถึงน้ำท่วมครั้งใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในกรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์มาโดยตลอด

 

เช่น ในสมัยรัชกาลที่ 1 ปี 2328 เมื่อเริ่มสร้างเมืองได้เพียง 3 ปีก็เกิดน้ำท่วมใหญ่ และมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่มาตลอดตั้งแต่รัชกาลที่ 2 จนถึง 6 จนกระทั่งปี 2485 ก็มีหลักฐานให้เห็นเป็นรูปภาพน้ำท่วมในกรุงเทพฯ จำนวนมาก

 

น้ำท่วมจึงถือเป็นภัยที่หลีกเลี่ยงเสียไม่ได้ จนเกิดศัพท์สำนวนไทยจากการสังเกตระดับน้ำ เดือน 11 น้ำนอง เดือน 12 น้ำทรง เดือนอ้าย เดือนยี่น้ำก็รี่ไหลลง ซึ่งคนไทยโบราณก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติน้ำหลากตามฤดูกาลตามคติความเชื่อและภูมิปัญญาที่มี

 

ตามโลกทัศน์ของคนไทยสมัยโบราณ มองน้ำท่วมเป็นปรากฏการณ์ของการลงโทษจากสิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่า เช่น ในไตรภูมิพระร่วงที่กล่าวถึงการสิ้นกัปสิ้นกัลป์จากน้ำท่วมโลกไปจนถึงชั้นพรหม ในพระปฐมสมโพธิของพุทธประวัติ น้ำท่วมเป็นสัญลักษณ์ของการลงทัณฑ์ความชั่วร้ายต่างๆ ให้พ่ายแพ้แก่พุทธานุภาพ ในพุทธประวัติตอนมารผจญ พระแม่ธรณีบีบน้ำจากมวยผมไปท่วมกองทัพมารให้พ่ายแพ้ไป ในวรรณคดีมรดกเรื่อง กาพย์พระไชยสุริยา ของสุนทรภู่ กล่าวถึงน้ำท่วมที่ลงทัณฑ์ต่อบ้านเมืองที่กษัตริย์ ขุนนาง และผู้คน กระทำผิดศีลธรรมจรรยา 

ในบันทึกเหตุการณ์ในสมัยอยุธยาของชาวตะวันตกอย่าง ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) บาทหลวงตาชาร์ด (Guy Tachard) หรือ นิโคลาส แชแวร์ (Nicolas Gervaise) ก็กล่าวว่าน้ำท่วมเป็นเรื่องปกติของอยุธยาในช่วงฤดูฝนหรือฤดูน้ำหลาก และมีข้อสังเกตถึงภูมิปัญญาต่างๆ ที่ชาวสยามรู้จักปรับตัวเข้ากับน้ำที่ท่วมหลากเข้ามาจนถึงในตัวพระนครโดยไม่ต้องเดือดร้อนอพยพ 

 

ชาวตะวันตกได้กล่าวถึงภูมิปัญญาการปลูกที่อยู่อาศัยของชาวสยาม ที่นิยมปลูกบ้านใต้ถุนสูง ลา ลูแบร์ กล่าวในบันทึกอย่างน่าสนใจว่า เป็นเรือนขนาดย่อมๆ มีบริเวณกว้างขวางพอใช้ พื้นเรือนใช้ไม้ไผ่สับเป็นฟาก แล้วเรียงไว้แบบไม่ค่อยดีนัก มีการนำไม้ไผ่มาสานขัดแตะเป็นฝา แล้วใช้เป็นทำเป็นหลังคาด้วย เสาตอหม้อของบ้านเรือนยกพื้นขึ้นสูงให้พ้นน้ำท่วม ราวๆ 13 ฟุต โดยใช้ไม่ไผ่ลำใหญ่ๆ แม้แต่คอกสัตว์ก็สร้างไว้กลางแจ้ง แล้วยกพื้นขึ้นเหมือนกัน ทำสะพานพาดเข้าไปยังบริเวณคอกด้วยไม้ไผ่ สำหรับให้สัตว์เลี้ยงที่อยู่ในคอกนั้น เช่น วัว ควาย ใช้ปีนขึ้นลง

 

นอกจากนี้ ยังพบการสร้างบ้านในลักษณะเรือนแพและเรือประเภทต่างๆ ที่คนไทยในสมัยอยุธยามีใช้นับร้อยประเภท ชาวตะวันตกยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า พื้นที่ของกรุงศรีอยุธยาอยู่ในที่ลุ่ม ซึ่ง ลา ลูแบร์ ประหลาดใจมากว่า ประเทศสยามสามารถรอดพ้นจากช่วงที่น้ำทะเลขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้ว่าในทุกๆ ปี พื้นแผ่นดินของประเทศสยามจะจมอยู่ใต้น้ำฝน ซึ่งท่วมและขังอยู่นานเป็นหลายเดือน แต่ชาวสยามก็มีภูมิปัญญาที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพดังกล่าวนี้ได้ 

 

หากลองพิจารณาสถานการณ์ปัจจุบัน แม้ว่าประเทศไทยจะมีการสร้างเขื่อนจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมหรือบรรเทาปัญหาได้มากนัก ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะคนในปัจจุบันไม่พยายามจะเข้าใจสภาพของน้ำหลากลงมาในที่ลุ่มตามธรรมชาติของฤดูกาล มีการสร้างบ้านเรือนหรือสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำหรือเป็นพื้นที่ที่เป็นท้องทุ่งรับน้ำมาตั้งแต่อดีต ทำให้ปัญหาน้ำท่วมกลายเป็นเรื่องของการระบายน้ำที่ช้า จนกลายเป็นความเดือดร้อนของผู้คนที่ต้องมีชีวิตอยู่กับน้ำขังที่เน่าเหม็นอยู่เป็นเวลานาน