งานประดับมุก

งานประดับมุก เป็นงานประณีตศิลป์สำหรับตกแต่งโบสถ์วิหารในวัดต่างๆ ซึ่งรุ่งเรืองเฟื่องฟูมากในยุครัตนโกสินทร์ ส่วนใหญ่เป็นงานประดับบานประตูหน้าต่างโบสถ์วิหาร นอกจากนั้นยังสามารถนำไปประดับภาชนะเครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์ที่มีพื้นผิวเป็นไม้ เช่น ตู้พระธรรม ตะลุ่ม ฝาบาตร กล่องใส่หมากพลู เป็นต้น

 

วิธีการทำคือการประดับมุกลงบนพื้นผิวของไม้ เริ่มจากร่างลายบนพื้นผิวของวัตถุ จากนั้นแกะสลักให้เป็นลายตื้นเพื่อให้สามารถฝังชิ้นเปลือกมุก สำหรับมุกจะต้องฉลุตามลายที่ร่างแบบไว้ โดยสามารถนำเปลือกหอยมาใช้ได้หลายชนิด เช่น หอยมุก หอยอูฐ หอยนมสาว หอยงวงช้าง หอยจอบ นำมาขัดให้เป็นประกายแวววาว หากออกมาเป็นสีรุ้งจะมีศัพท์ทางช่างเรียกกันว่า มุกไฟ ซึ่งนิยมนำมาใช้ในงานประดับมุกชิ้นเอก นำมาฝังในร่องลายที่แกะไว้แล้ว

 

จากนั้นก็ถมยางรักให้เต็มพื้นผิว แล้วขัดจนกระทั่งลายมุกปรากฏขึ้นมาเรียบเสมอกับผิวไม้ จะเห็นได้ว่างานประดับมุกเป็นงานละเอียดที่ใช้เวลาและความอดทนอย่างมาก ซึ่งทำให้มีราคาค่อนข้างสูงตามไปด้วย

 

งานประดับมุกที่เก่าที่สุด เป็นงานสมัยอยุธยาตอนปลาย มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้โปรดเกล้าให้สร้างบานประตูหน้าต่างประดับมุกสำหรับโบสถ์วิหารสำคัญๆ ในราชอาณาจักรหลายแห่งด้วยกัน อย่างเช่นบานประตูประดับมุกที่วิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

 

นอกจากนี้ วัดบรมพุทธาราม ซึ่งสมเด็จพระเพทราชาทรงสถาปนาขึ้น ก็ได้มีการสร้างบานประตูประดับมุกที่วัด โดยหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้ถอดบานประตูดังกล่าวมาใช้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และกลายเป็นต้นแบบของงานประดับมุกในสมัยต่อมา

 

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 เป็นช่วงที่เฟื่องฟูมาก มีวิธีการและการออกแบบลวดลายประดับตกแต่งใหม่ๆ ต่างไปจากสมัยอยุธยา มีงานประดับมุกสำคัญๆ อาทิ บานประตูอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ เป็นการผูกลวดลายเล่าเรื่องรามเกียรติ์ตอนต่างๆ การผูกลวดลายแบบจีนบนบานประตูพระอุโบสถวัดราชโอรสาราม ซึ่งงดงามมากจนสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงชมไว้อย่างยิ่งในพระนิพนธ์ สาสน์สมเด็จ 

 

งานสำคัญในสมัยรัชกาลที่ 4 คือ บานประตูพระอุโบสถ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม บานด้านตะวันออกเป็นไม้แกะสลักลงลักปิดทอง ประดับกระจกข้างหลังบาน บานด้านที่อยู่ในพระอุโบสถเป็นงานประดับมุกที่มีอิทธิพลงานประดับมุกแบบญี่ปุ่น

 

สมัยรัชกาลที่ 5 มีการสร้างงานประดับมุกไว้หลายชิ้น ชิ้นสำคัญ คือ บานประตูและหน้าต่างประดับมุกพระอุโบสถ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มีการผูกลวดลายเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำคัญของไทยในเวลานั้น ซึ่งมีลวดลายสวยงามมีประกายระยิบระยับเหมือนมุกไฟ

 

งานประดับมุกในวัดวาอารามต่างเริ่มเสื่อมความนิยมลงไปหลังจากสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากหาช่างที่มีฝีมือค่อนข้างยาก เพราะในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ กรมช่างสิบหมู่ที่มีหน้าที่โดยตรงในการฝึกหัดช่างฝีมือในสังกัด โดยสามารถคัดเลือกคนที่มีศักยภาพในการทำงานศิลปะจากระบบเกณฑ์แรงงาน ซึ่งช่างฝีมือเหล่านี้จะได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินรางวัลตอบแทน

 

แต่ต่อมาเมื่อได้ยกเลิกระบบเกณฑ์แรงงาน ก็ทำให้การฝึกช่างฝีมือเป็นเรื่องยาก เนื่องจากงานประดับมุกจำเป็นต้องใช้ช่างที่มีฝีมือขั้นสูง อาศัยความละเอียดและความอดทนอย่างมาก ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกไปทำงานอย่างอื่น อย่างไรก็ตาม ก็มีความพยายามในการอนุรักษ์เพื่อสืบทอดงานประณีตศิลป์ประเภทนี้ไว้ โดยยังคงมีการเปิดสอนงานช่างประดับมุกในวิทยาลัยช่างฝีมือในวัง (ชาย) ในปัจจุบัน