จระเข้ในวัฒนธรรมไทย

คนไทยแต่โบราณมีความคุ้นเคยกับจระเข้และปรับตัวให้สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ ไม่ได้มองว่าเป็นสัตว์ร้ายที่มีแต่ความน่ากลัว ด้วยจระเข้และคนต่างก็พึ่งพาสายน้ำเหมือนกัน ซึ่งก็ยึดหลักว่าต้องไม่มาเบียดเบียนซึ่งกันและกัน

 

ในยามที่จระเข้หิวและออกล่าอาหารนั้น มนุษย์เองก็ต้องระวังตัวไม่ให้จระเข้มาทำร้าย มีการเรียนรู้ฝึกฝนความชำนาญในการป้องกัน จับ แม้กระทั้งการปราบจระเข้ จนพัฒนาเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง และเรียกผู้สามารถปราบจระเข้ได้ว่า หมอจระเข้ 

 

หมอจระเข้ คือผู้ที่มีความชำนาญเฉพาะตัวเรื่องวิชาอาคมในการจัดการจระเข้ ถือเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความจำเป็นในสังคมไทยที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำลำคลอง แม้ในราชสำนักก็ยังคงมีหมอจระเข้หลวง เนื่องจากพระมหากษัตริย์มีพระราชกรณียกิจที่ต้องเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคอยู่บ่อยครั้ง จึงต้องมีเรือหมอจระเข้ร่วมอยู่ในขบวนด้วย

 

การพระราชพิธีที่ต้องประกอบขึ้นที่ริมฝั่งน้ำ อาทิ พระราชพิธีลอยพระประทีป พระราชพิธีลงสรง จะมีการตั้งหมอจระเข้หลวงคอยรักษาการอยู่ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุร้ายเกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีหมอจระเข้ชาวบ้านที่เรียกว่า หมอจระเข้เชลยศักดิ์ เป็นผู้มีคาถาอาคมอยู่ตามชุมชนต่างๆ

 

ความคุ้นเคยกับจระเข้ของคนไทยนั้น ได้สร้างความประหลาดใจให้กับชาวตะวันตก จนมีการบันทึกไว้ในเอกสารจดหมายเหตุของ บาทหลวงตาชาร์ด สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่แสดงความสงสัยว่าชาวสยามใช้ชีวิตอยู่กับสัตว์ร้ายชนิดนี้ได้อย่างไร หากเป็นคนฝรั่งเศสก็คงไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้

 

จระเข้อยู่ในวัฒนธรรมไทยมากมายหลายด้าน ในตำนานที่จระเข้เข้ามามีบทบาท ได้แก่ เรื่องตากับยายเลี้ยงลูกตะเข้ หรือตำนานเรื่องลูกตะเข้เนรคุณจนเกิดเป็นคำพังเพยติดปาก เลี้ยงลูกเสือลูกตะเข้ ด้วยความที่จระเข้เป็นสัตว์ดุร้าย จึงนำไปเปรียบกับความร้ายกาจความเนรคุณของคน

 

มีการนำจระเข้มาเป็นตัวละครในนิทานพื้นบ้านหรือแม้แต่วรรณคดีมรดกบางเรื่อง เช่น เรื่อง ไกรทอง เป็นเรื่องของหมอจระเข้หนุ่มชื่อ ไกรทอง รับอาสาไปปราบพญาจระเข้ชื่อ ชาละวัน ซึ่งมีการกล่าวถึงเทคนิคและวิธีต่างๆ ของหมอจระเข้ใช้ในการปราบจระเข้ด้วย

 

ในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน มีตอนที่ชื่อว่า จระเข้เถรขวาด เป็นเรื่องของเถรขวาดที่ถูกนางสร้อยฟ้าร้องขอให้ช่วยแก้แค้นพลายชุมพลลูกชายของขุนแผน ซึ่งก็แปลงกลายลงมาเป็นจระเข้มาอาละวาดในเมือง ร้อนถึงพลายชุมพลซึ่งมีวิชาอาคม ต้องกลายมาเป็นหมอจระเข้ลงไปปราบจระเข้เถรขวาด 

 

ในศิลปะไทยก็พบจระเข้ปรากฏอยู่ในหลายๆ แห่ง โดยเฉพาะในภาพจิตรกรรมฝาพนังเกี่ยวกับสายน้ำ ก็จะมีรูปจระเข้รวมอยู่ หรือแม้กระทั้งจระเข้ที่เป็นสัตว์พาหนะของพระวรุณ เทพเจ้าแห่งน้ำและสายฝนในศาสนาพราหมณ์ เห็นได้จากบานหน้าต่างพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม ธงจระเข้เป็นคติความเชื่อหนึ่งในพระพุทธศาสนา ปักเอาไว้ริมตลิ่งของวัด เพื่อบ่งบอกว่าวัดนี้รับกฐินแล้ว ในเรื่องดนตรีไทย เรายังพบเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งหน้าตาเหมือนจระเข้ เรียกว่า จะเข้ และมีเพลงไทยที่ชื่อว่า จระเข้หางยาว อีกด้วย 

 

ในสำนวนไทย อาทิ จระเข้คับคลอง จระเข้ขวางคลอง ลิ้นจระเข้ หรือจระเข้ในฐานะชื่อบ้านนามเมืองของไทย ตัวอย่างเช่น บ้านห้วยจระเข้ ในจังหวัดนครปฐม มีแม่น้ำชื่อ จระเข้สามพันธุ์ ซึ่งแม่น้ำโบราณแถบจังหวัดสุพรรณบุรี ย่าน ดาวคะนอง ซึ่งได้ชื่อมาจากการที่จระเข้มาอาละวาดในสมัยหนึ่ง ตำบล จระเข้ร้อง ริมแม่น้ำเจ้าพระยาจังหวัดอ่างทอง

 

เหล่านี้เป็นเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับจระเข้ที่มีความเกี่ยวพันกับชีวิตไทยเรามาตั้งแต่โบราณ ยังมีกลุ่มดาวจระเข้ที่คนเอาไปแต่งสักวา คือ สักวาดาวจระเข้ เป็นความเชื่อที่รับมาจากดาราศาสตร์แผนหนึ่งของชาวอินเดีย ซึ่งก็ไปปรากฏในวรรณคดีอีกหลายเรื่อง