จังหวัดอุตรดิตถ์

จังหวัดอุตรดิตถ์เป็นเมืองสงบๆ แต่มีลักษณะวัฒนธรรม วิถีชีวิต ตลอดจนศิลปะที่น่าสนใจ เนื่องจากตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างพื้นที่ภาคกลางและพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งได้มีการผสมผสานวัฒนธรรมทั้ง 2 ภาค จนกลายเป็นเสน่ห์และเอกลักษณ์ของเมืองอุตรดิตถ์

 

เมืองอุตรดิตถ์เกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นการรวม 3-4 หัวเมืองเล็กๆ ได้แก่ เมืองทุ่งยั้ง เมืองลับแล เมืองฝางหรือสวางคบุรี และเมืองพิชัย หากพิจารณาสภาพภูมิศาสตร์ของที่ตั้งเมือง เมืองนี้อยู่ไม่ไกลจากเมืองสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย จังหวัดที่ต่อขึ้นไปจากอุตรดิตถ์ คือ แพร่ และ น่าน ซึ่งตรงนั้นเป็นหัวเมืองของล้านนาในยุคพระเจ้าติโลกราช

 

อุตรดิตถ์จึงเป็นเมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างอิทธิพล 2 ฝ่าย คือ ไทยสยาม และ ไทยล้านนา ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นวัฒนธรรมที่มีความปะปนกันอยู่ ความเป็นเมืองรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมไทย 2 กลุ่ม ทำให้อุตรดิตถ์เป็นแหล่งงานศิลปะของทั้งแบบล้านนา แบบไทยภาคกลาง รวมถึงงานศิลปะที่ผสมผสานกัน

 

อย่างเช่นพระพุทธรูปของวัดท่าถนนในเขตอำเภอเมือง เป็นพระพุทธรูปล้านนาแบบเชียงแสนสิงห์ในยุคที่อาณาจักรล้านนามีความรุ่งเรืองมาก เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิเรียกกันว่า หลวงพ่อเพชร ซึ่งมีความงดงามมาก จนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เชิญลงมาประดิษฐานไว้ในวัดเบญจมบพิตรในช่วงเวลาหนึ่ง

 

หลวงพ่อเพชรนี้ไม่ได้เป็นพระพุทธรูปล้านนาองค์เดียวที่มาปรากฏอยู่ในเมืองอุตรดิตถ์ ยังอีกหลายองค์ตามวัดต่างๆ แต่ขณะเดียวกันก็พบพระพุทธรูปสุโขทัยในจำนวนที่มากพอๆ กันตามวัดเก่าต่างๆ ในเมืองอุตรดิตถ์ โดยส่วนหนึ่งนำมาจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานจังหวัดน่าน

 

วัดกลาง เป็นวัดโบราณในเมืองอีกแห่งที่น่าสนใจ สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา พระอุโบสถเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลายในยุคพระเจ้าบรมโกศ แต่จิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถเป็นศิลปะในยุคต้นรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสำคัญกับเมืองอุตรดิตถ์ ต่อเนื่องจากสมัยอยุธยามาถึงรัตนโกสินทร์ 

 

เมืองสวางคบุรี เป็นหนึ่งในหัวเมืองที่รวมเข้ามาเป็นจังหวัดอุตรดิตถ์ เดิมมีชื่อว่าเมืองฝาง ต่อมาในสมัยอยุธยาจึงได้ชื่อเมืองว่าสวางคบุรี วัดสำคัญของเมืองนี้ปัจจุบันมีชื่อว่า วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่าน มีพระธาตุเจดีย์ทรงลังกาเป็นศูนย์กลาง

 

สันนิษฐานว่าวัดนี้น่าจะมีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคสุโขทัย ซึ่งมีอิทธิพลของลัทธิลังกาวงศ์เข้าไป รัชกาลที่ 5 ทรงได้พระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิสมัยอยุธยาตอนปลายมาจากวัดแห่งนี้ชื่อว่า พระฝาง ซึ่งปัจจุบันได้อัญเชิญกลับมาประดิษฐานไว้ที่วัดตามเดิมแล้ว 

 

เมืองลับแล เป็นเมืองโบราณอีกแห่งหนึ่งของอุตรดิตถ์ มีวัดโบราณ 2 แห่งที่แสดงให้เห็นถึงงานศิลปะตั้งแต่ยุคอยุธยามาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ รวมทั้งมีศิลปะล้านนาปะปนมาด้วย  ได้แก่ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง และวัดพระแท่นศิลาอาสน์ วัดทั้งสองแห่งนี้มีพัฒนาการมาตั้งแต่ยุคสุโขทัยและยังคงมีความสำคัญอยู่ในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตาม ศิลปะยุคสุโขทัยในวัดทั้งสองแห่งนี้สูญหายไปหมดแล้ว เนื่องจากการก่อสร้างตกแต่งในยุคต่อๆ มา แต่พบหลักฐานที่แสดงว่าเมืองลับแลมีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคสุโขทัยจากการปรากฏชื่อในจารึกยุคพระมหาธรรมลิไท ตัววิหารของวัดพระแท่นและโบสถ์วิหารในวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ล้วนเป็นศิลปะยุคอยุธยาที่ปนกับลักษณะวิหารแบบล้านนา ซึ่งปนกันได้สัดส่วนจนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

นอกจากนี้ ทั้งวัดบรมธาตุทุ่งยั้งและวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ถือเป็นปูชนียสถานสำคัญมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โดยในรัชกาลที่ 3-4 โปรดให้พระราชทานเงินหลวงและช่างหลวงมาช่วยในการบูรณะวัด โดยเฉพาะวิหารหลวงของวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งนั้น มีงานจิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ปัจจุบันนี้ลบเลือนไปมากพอสมควร