จากเลกวัดสู่เด็กวัด

วันที่ออกอากาศ: 2 กันยายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ตามพระธรรมวินัยแล้ว พระสงฆ์ไม่อาจมีบทบาทเป็นผู้ทำมาหาเลี้ยงชีพได้ด้วยตนเอง จึงจำเป็นต้องมีบุคลากรที่เป็นฆราวาสกลุ่มหนึ่งเข้ามาอาศัยในวัดเพื่อช่วยดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์

 

ในประวัติศาสตร์ของประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ตั้งแต่อินเดีย ลังกา จนมาถึงภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และไทย พบว่าในสมัยโบราณ เวลาที่กษัตริย์หรือผู้นำที่มีบุญบารมีในสังคมจะสร้างวัดวาอารามต่างๆ เพื่อเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจและที่จำพรรษาของพระสงฆ์ ก็จำเป็นต้องมีการอุทิศถวายคนกลุ่มหนึ่งเพื่อทำหน้าที่บางอย่างในวัดแทนพระสงฆ์ที่ถูกจำกัดด้วยพระธรรมวินัย

 

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อาทิ จารึก จดหมายเหตุ พงศาวดาร ปรากฏชื่อกลุ่มบุคคลเหล่านี้ซึ่งมีอยู่หลายลักษณะได้แก่ เลกวัด โยมวัด ข้าพระ ข้าวัด ศิษย์วัด ศิษย์โยม เป็นต้น โดยสามารถจำแนกกลุ่มคนเหล่านี้ตามสถานภาพและหน้าที่ได้ ดังนี้

 

เลกวัด คำว่า เลก นี้มาจากคำว่า สักเลก หมายถึงการทำเครื่องหมายที่ข้อมือของชายฉกรรจ์ที่ถูกเกณฑ์แรงงานในระบบไพร่ของไทยสมัยศักดินา พระธรรมกิติวงศ์ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดราชโอรสารามได้อธิบายคำว่าเลกวัดไว้ในพจนานุกรมคำวัด ว่าหมายถึงชายฉกรรจ์ที่พระมหากษัตริย์พระราชอุทิศให้เป็นข้าใช้สอยในวัด ซึ่งเดิมเป็นไพร่หลวงหรือไพร่สมในระบบการเกณฑ์แรงงานไพร่

 

การพระราชทานเลกวัดเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างวัดใหม่ของราชสำนัก ซึ่งเป็นธรรมเนียมมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลที่เรียกว่า การกัลปนา คือการที่พระมหากษัตริย์อุทิศทรัพยากรต่างๆ เช่น กำลังคน พื้นที่ ที่ดิน ข้าวปลาอาหาร หรือทรัพย์สินมีค่าต่างๆ ให้กับศาสนสถาน โดยกำลังคนเหล่านี้จะมีหน้าที่รับใช้และดูแลความเป็นอยู่ของพระภายในวัด อาทิ การทำความสะอาด การซ่อมบำรุงอาคารสิ่งของต่างๆ รวมถึงการทำเกษตรเพื่อนำผลผลิตมาเป็นอาหารเลี้ยงพระและแรงงานในวัด

 

ข้าพระ มีหน้าที่รับใช้และดูแลพระภายในวัดเช่นเดียวกับเลกวัด แต่มีความแตกต่างกันของสถานภาพที่มา โดยข้าพระในสมัยโบราณคือ ทาส ซึ่งมีฐานะต่ำกว่าไพร่ เมื่อเจ้านาย ขุนนาง หรือคณหดีผู้มีฐานะสร้างวัดวาอารามก็มีธรรมเนียมในการอุทิศสิ่งจำเป็นต่างๆ แก่วัดตามธรรมเนียมหลวง ซึ่งรวมถึงการถวายทาสในเรือนให้เป็นแรงงานสำหรับวัดด้วย

โยมสงฆ์ อาจเรียกอีกอย่างว่า โยมวัด ศิษย์โยม หรือศรัทธา ไม่ได้มีสถานภาพเป็นสมบัติของวัดตามระบบไพร่หรือทาส แต่เป็นคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนบริเวณรอบวัดแล้วมีจิตศรัทธาในการช่วยเหลือหรืออุปถัมป์วัด เนื่องจากมีความศรัทธาในปูชนียวัตถุของวัด หรือนับถือพระเถระที่เป็นเจ้าอาวาส หรือมีความผูกพันของวัดหรือพระสงฆ์ในวัดมาตั้งแต่อดีต

 

จึงอาสาช่วยเหลือกิจการของวัดในทางใดทางหนึ่ง รวมถึงการดูแลผลประโยชน์ของวัด ซึ่งตามพระวินัยแล้ว พระสงฆ์ไม่สามารถจับต้องหรือเก็บทรัพย์สินเงินทองได้ จึงจำเป็นต้องให้ฆราวาสเข้ามาช่วยดูแลรักษาและบริหารเงินบริจาคของวัด

 

การถวายแรงงานในธรรมเนียมกัลปนาถูกยกเลิกในเวลาต่อมา เนื่องจากระบบเกณฑ์แรงงานไพร่และระบบทาสเริ่มเสื่อมคลายลง จนมาถูกยกเลิกอย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 5 ทำให้ไม่มีแรงงานไพร่หรือทาสสำหรับอุทิศถวายแก่วัด

 

อย่างไรก็ตาม บุคลากรฆราวาสที่ทำหน้าที่ดูแลรับใช้พระสงฆ์หรือช่วยเหลือกิจกรรมด้านต่างๆ ก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับวัด ซึ่งต่อมาโยมสงฆ์ข้าพระได้กลายสถานภาพมาเป็น เด็กวัด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กกำพร้าหรือเด็กยากจนที่วัดอุปการะไว้ รวมถึงโยมสงฆ์ที่เปลี่ยนมาเรียกว่า ไวยาวัจกร หรือ มรรคนายก ซึ่งทำหน้าดูแลรักษาผลประโยชน์และบริหารจัดการทรัพย์สินต่างๆ ของวัด