จารึกในประเทศไทย ตอนที่ 1

วันที่ออกอากาศ: 25 มีนาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

จารึก ถือเป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคต้นของประเทศไทย นับถอยจากสมัยอยุธยาไปจนถึงยุคสุโขทัย ล้านนา หรือรัฐในแว่นแคว้นโบราณต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่คนไทยจะรวบรวมคนตั้งตนเป็นบ้านเมืองได้ จริงๆ แล้ว การสร้างจารึกถือเป็นวัฒนธรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานนับพันปี

 

จารึกส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทย หรือประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมอินเดีย โดยได้หยิบยืมอักษรอินเดียโบราณมาใช้ เช่น ปัลลวะ พราหมี เทวนาครี หรือการนำภาษาอินเดียมาใช้ถ่ายเสียงภาษาพื้นเมือง เช่น ใช้อักษรสันสกฤตเขียนภาษาเขมร ใช้อักษรปัลลวะเขียนภาษามลายู เป็นต้น

 

ยกเว้นจารึกในเวียดนาม ตั้งแต่สมัยก่อตั้งอาณาจักร ไดเวียด ขึ้นมาใหม่ๆ นั้น ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมจีน จึงใช้อักษรจีนมาทำจารึก

 

ต่อมา คนพื้นเมืองในประเทศต่างๆ เหล่านี้ต่างก็ประดิษฐ์อักษรขึ้นจากการประยุกต์ใช้ภาษาที่มีมาแต่ดั่งเดิม แล้วก็นำอักษรเหล่านี้มาใช้ทำจารึกด้วย อย่างเช่นอักษรขอมในกัมพูชา หรือลายสือไทยในยุคพ่อขุนรามคำแหง 

 

วิธีการทำจารึกนั้น จะใช้วัสดุโลหะปลายแหลมจานลงบนพื้นผิวของวัสดุให้ลึกเป็นรอยลงไป ตอกเป็นรูปตัวอักษรเรียงเป็นข้อความ โดยมีวัสดุที่สามารถนำมาใช้ได้หลายชนิด แต่ที่นิยมคือการจารึกบนหิน ซึ่งเรียกว่า ศิลาจารึก หินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เหมาะในการทำจารึกก็มีหลายชนิด เช่น หินทราย หินอ่อน หินสบู่ หินภูเขาไฟ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ โลหะชนิดต่างๆ อย่างเช่น ทองคำ ก็สามารถตีแผ่เป็นแผ่น แล้วก็จารึกลงบนแผ่นทองได้ เรียกกันว่า จารึกลานทอง หรือการจารึกลงไปบนโลหะสัมฤทธิ์ ซึ่งนิยมจารึกในรูปศิลปวัตถุต่างๆ เช่น พระพุทธรูป เทวรูป ระฆัง เป็นต้น

 

ก่อนการแกะสลักตัวอักษรลงบนวัตถุนั้น น่าจะมีคนกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ร่างคำพูดหรือข้อความต่างๆ ที่จะจารึก อาจจะเป็นอาลักษณ์ของราชสำนัก เพราะจารึกส่วนใหญ่ที่พบในประเทศไทยเป็นจารึกของกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ชนชั้นสูง หรือแม้กระทั่งคหบดีที่มั่งมี

 

ทั้งนี้ สันนิษฐานจากข้อความในจารึกต่างๆ พบว่า ข้อความเหล่านั้นมักเป็นการพรรณนาโดยใช้ภาษาที่สละสลวย  ซึ่งน่าจะผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว จึงเกินวิสัยที่จะใช้วิธีบอกกล่าวแบบปากต่อปาก คำต่อคำ อย่างไรก็ตาม การบันทึกข้อความสั้นๆ อย่างการจารึกบนผนังถ้ำ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีการเขียนคำบอก

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเป็นผู้บุกเบิกรายแรกๆ ในประเทศไทย ที่ใช้จารึกมาเป็นหลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์ ด้วยเหตุที่ทรงค้นพบและพยายามศึกษาข้อความในจารึก ได้เป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนชั้นหลัง

 

ต่อมาได้มีนักโบราณคดีตะวันตกโดยเฉพาะนักวิชาการชาวฝรั่งเศส สนใจเข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ของไทยและประเทศใกล้เคียง ก็เป็นการเปิดศักราชของการอ่านจารึกและการใช้ข้อความในจารึกเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์

 

จนในปัจจุบัน การศึกษาจารึกมีการพัฒนาไปสู่ระบบฐานข้อมูลออนไลน์ มีการรวมรวมสำเนาตัวอักษรจากจารึกต่างๆ และถอดข้อความเป็นภาษาไทยโดยคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งผู้สนใจสามารถใช้งานผ่านเวปไซต์ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร