จารึกในประเทศไทย ตอนที่ 2

วันที่ออกอากาศ: 1 เมษายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การทำจารึกในรัฐโบราณของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งอาณาจักรไทยโบราณ ส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประกอบการสร้างศาสนสถาน ดังที่เห็นได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี มักจะพบจารึกอยู่ร่วมกับโบราณสถานที่เป็นศาสนสถานด้วย

 

โดยแบบแผนข้อความของจารึกลักษณะนี้ เบื้องต้นจะกล่าวถึงผู้สร้างจารึก ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้รู้บทบาทและประวัติของบุคคลต่างๆ ในยุคสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลของกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ของราชอาณาจักรโบราณ  

 

อย่างการพบพระราชประวัติของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 จากจารึกปราสาทสด๊กก๊อกธม ในจังหวัดสระแก้ว ข้อมูลเกี่ยวกับราชวงศ์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จากจารึกที่ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา จารึกเกี่ยวกับเชื้อพระวงศ์ของพระเจ้าวรมันที่ 2 จากเขาพนมรุ้ง เป็นต้น

 

หลังจากนั้นก็เป็นการแสดงพระราชประสงค์หรือความประสงค์ของเจ้าของจารึก ว่ามีศรัทธาสร้างถวายให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามลัทธิความเชื่อใด เช่น สร้างถวายพระศิวะในศาสนาพราหมณ์ หรือสร้างเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา เป็นต้น 

 

ต่อมาเป็นการกล่าวถึงข้อมูลการดำเนินการก่อสร้างศาสนสถาน เช่น ใครเป็นผู้คุมงาน เกณฑ์คนมาจากที่ใด มีการจัดเตรียมทรัพยากรในการเลี้ยงดูแรงงานอย่างไร หรือมีการสร้างรูปเคารพอะไรบ้างเพื่อประดิษฐานอยู่ในศาสนสถานแห่งนั้น ที่สำคัญที่สุด เป็นการกล่าวถึงการกัลปนาในการสร้างศาสนสถานแห่งนั้น 

 

กษัตริย์หรือเชื้อพระวงศ์ที่เป็นผู้สร้างโบราณสถานเทวสถาน ส่วนใหญ่จะเลือกสร้างเทวสถานพื่นที่ห่างไกลจากชุมชนเดิม ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการขยายอาณาเขตของเมืองหรือราชอำนาจ โดยเมื่อสร้างศาสนสถานนั้นๆ เสร็จก็จะใช้เป็นศูนย์กลางของชุมชน

 

กษัตริย์จะส่งกัลปนาก็คือการอุทิศทรัพยากรทรัพย์สินต่างๆ เช่น  ที่ดิน ผู้คน พราหมณ์และนักบวช ปศุสัตว์ ร่วมถึงการปันส่วนทรัพยากรจากส่วนกลางระหว่างที่ชุมชนใหม่ยังไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ เช่น ข้าว พืชพันธุ์ธัญญาหาร หรือผลผลิตผลอื่นๆ ซึ่งข้อมูลต่างๆเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ วิถีชีวิตของบ้านเมือง หรือผลิตผลทางการเกษตรในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี 

 

ข้อความในส่วนสุดท้ายของจารึกประกอบศาสนสถานนั้น มักเป็นข้อความสำหรับอธิษฐาน ส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการขอทรัพย์สินเงินทอง ขอให้มีอำนาจบารมี แล้วค่อยๆ ขอในสิ่งที่สูงขึ้นไป เช่น ขอให้เป็นผู้รู้ธรรม เป็นโสดาบัน จนกระทั่งขอให้บรรลุนิพพาน  

 

นอกจากจารึกประกอบการสร้างศาสนสถานแล้ว ยังมีจารึกประเภทอื่นๆ อีก ซึ่งก็มีจารึกประเภทบันทึกเหตุการณ์ ซึ่งจารึกประเภทนี้พบได้ไม่มากนัก โดยจะบอกกล่าวความเป็นไปในบ้านเมือง อย่างเช่น จารึกพ่อขุนรามคำแหง เป็นการเล่าเรื่องบุคคลและเหตุการณ์ในรัชสมัย

 

จารึกวัดป่ามะม่วง ทำให้ทราบความเป็นมาของพระมหาธรรมราชาลิไท ช่วงการเสด็จออกผนวช และเหตุการณ์ในรัชสมัย จารึกวัดศรีชุม บันทึกประวัติของพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์สุโขทัยในสายพ่อขุนผาเมือง พระกรณียกิจในการอุปถัมภ์พุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ การสร้างและบูรณะศาสนสถานต่างๆ ทำให้ได้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ศิลป์และงานพุทธศิลป์ต่างๆ ในแคว้นสุโขทัย

 

จารึกอีกประเภทหนึ่ง เป็นการบันทึกสรรพวิทยาความรู้ต่างๆ รวมถึงบทสวดมนต์พระคาถาต่างๆ อย่างเช่นจารึกที่วัดโพธิ์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากจารึกได้หมดบทบาทหน้าที่แล้ว ด้วยมีกระดาษสมุดเข้ามาแทนที่ จึงนิยมบันทึกในลักษณะจดหมายเหตุหรือพงศาวดาร   

 

แม้ว่าธรรมเนียมการสร้างจารึกค่อยๆ หมดความนิยมลงนับตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ในปัจจุบัน จารึกก็ยังไม่หมดบทบาทลงเสียทีเดียว ยังคงมีธรรมเนียมการวางศิลาฤกษ์ประจำอาคารต่างๆ ให้เห็นได้อยู่มาก ซึ่งถือว่าเป็นจารึกอีกประเภทหนึ่งเช่นกัน