จิตรกรรมฝาผนังวัดกก

วันที่ออกอากาศ: 6 กรกฎาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วัดกก เป็นวัดประจำชุมชนของชาวสวนย่านธนบุรีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตั้งอยู่บริเวณคลองสนามชัยซึ่งขุดใช้เป็นเส้นทางเสด็จประพาสของพระเจ้าแผ่นดินสมัยอยุธยา

 

พระอุโบสถของวัดกกมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบสมัยรัชกาลที่ 1 ช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์ที่สืบเนื่องมาจากกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี  มีลักษณะคล้ายกับหอพระนาค อาคารหลังหนึ่งในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

 

ภายในพระอุโบสถของวัดกกมีฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระประธาน 2 องค์ พระประธานองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ด้านหลังเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ และพระประธานองค์หน้าเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ซึ่งเป็นลักษณะนิยมของพระพุทธรูปสมัยอยุธยาตอนปลาย เช่นเดียวกับฐานชุกชีที่มีเป็นลักษณะเฉพาะในช่วงปลายสมัยอยุธยาเช่นกัน จึงสันนิษฐานได้ว่าพระอุโบสถหลังนี้สร้างมาก่อนสมัยรัชกาลที่ 1 แต่น่าจะได้รับการปฏิสังขรณ์หรือสร้างใหม่ตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา 

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถของวัดกกมีความน่าสนใจและมีเอกลักษณ์เป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งเป็นภาพรูปแบบจิตรกรรมแบบรัชกาลที่ 1 และมีการเขียนภาพเพิ่มเติมเป็นรูปแบบจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 3

 

ปัจจุบันยังเหลือภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ประมาณร้อยละ 70 ของผนังทั้ง 4 ด้าน ซึ่งถือว่ามาก สิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าเป็นภาพจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 1 คือ ภาพเทพชุมนุม ซึ่งเขียนเต็มพื้นที่ของผนังเหนือช่องหน้าต่างด้านซ้ายและด้านขวาของพระประธาน เป็นภาพเทพยดา ครุฑ นาค จนถึงเทวดาชั้นพรหมเรียงรายกันเป็น 3 แถว นั่งประนมมือเข้าหาพระประธาน ซึ่งเป็นรูปแบบที่เทียบเคียงได้กับจิตรกรรมเทพชุมนุมของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ในพระราชวังบวรสถานมงคล

ผนังด้านล่างระหว่างช่องหน้าต่าง ช่องประตู มีภาพวาดทศชาติชาดกและมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งปัจจุบันเลือนลางไปมาก ประกอบกับผนังอุโบสถได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ซึ่งกรมศิลปากรได้เข้ามาอนุรักษ์และพยายามซ่อมแซม

 

ภาพจิตรกรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่างมากของวัดกก คือ ภาพจิตรกรรมบนผนังเหนือช่องหน้าต่างด้านสะกัด ก็คือด้านหน้าและด้านหลังองค์พระประธาน ซึ่งแต่เดิมในสมัยปลายอยุธยาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 1 มักนิยมวาดภาพตรงหน้าพระประธานเป็นภาพมารผจญและด้านหลังพระประธานเป็นภาพไตรภูมิ แต่ด้านหน้าพระประธานของวัดกกกลับเป็นภาพมณฑปพระพุทธบาทสระบุรีเป็นศูนย์กลาง รอยพระพุทธบาทประดิษฐ์จากแผ่นทองเหลืองแกะลายขนาดใหญ่ แวดล้อมด้วยภาพป่าเขา มีภาพเมืองสระบุรีและมหาชนกำลังนมัสการพระพุทธบาท

 

ด้านหลังพระประธานเป็นภาพพระพุทธเจ้ายืนพิงหน้าผาอยู่ ซึ่งเป็นภาพพระพุทธฉาย ปูชนียสถานอีกแห่งหนึ่งในแขวงเมืองสระบุรี ภาพจิตรกรรมทั้ง 2 ภาพนี้เป็นฝีมือของช่างสมัยยุครัตนโกสินทร์ในสมัยรัชกาลที่ 3 

 

ภาพนมัสการพระพุทธบาทสระบุรีและพระพุทธฉายนี้ ไม่ปรากฏในภาพจิตรกรรมของวัดอื่นๆ หรือแม้แต่วัดสำคัญในจังหวัดสระบุรีซึ่งอยู่ในพื้นที่ แต่เหตุใดมาปรากฏในวัดกกที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ได้เป็นวัดหลวงที่มีความสำคัญมากนักในทางประวัติศาสตร์

 

ตรงนี้มีข้อสันนิษฐานจากข้อความในพระราชพงศาวดารสมัยรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 3 พบว่าบริเวณบางบอน-บางขุนเทียน เป็นพื้นที่รองรับการกวาดต้อนผู้คนจากสงครามและการอพยพของชาวลาวช่วงการทำศึกเจ้าอนุวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งกลุ่มชาวลาวถูกกวาดต้อนมาพักบริเวณรอยต่อที่ราบสูงโคราชบริเวณจังหวัดสระบุรีในปัจจุบัน

 

จึงมีข้อสันนิษฐานว่าผู้อุปถัมภ์การบูรณะปฏิสังขรณ์วัดกกในสมัยรัชกาลที่ 3 อาจจะเป็นผู้อันจะกินเชื้อสายลาวที่อพยพมา ซึ่งรับรู้การนมัสการปูชนียสถานพระพุทธฉายและพระพุทธบาทของเมืองสระบุรี ปัจจุบันภาพจิตรกรรมดังกล่าวนี้ยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์มาก โดยกรมศิลปากรอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี