ชวนเที่ยวแม่น้ำอ้อม จังหวัดนนทบุรี

วันที่ออกอากาศ: 14 ธันวาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

เมืองนนทบุรีมีพื้นดินที่มีความสมบูรณ์มากเหมาะสำหรับการทำสวนปลูกพืชผลได้เป็นอย่างดี เป็นแหล่งสวนผลไม้ที่โด่งดังมากมาตั้งแต่สมัยอยุธยา อยู่ในพื้นที่ที่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างไหลผ่านไปจนถึงลุ่มแม่น้ำแม่กลอง มีการทำสวนผลไม้สลับกับที่นาไปโดยตลอด

 

อย่างไรก็ตาม แม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงที่ไหลผ่านเมืองนนทบุรีมีความคดเคี้ยวมากจนเป็นอุปสรรคต่อความเจริญเติบโตทางการค้าในสมัยอยุธยา ในสมัยอยุธยาต้นนับตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองเป็นต้นมา จึงมีนโยบายขุดคลองลัดแม่น้ำเพื่อย่นระยะทางและสะดวกต่อการเดินเรือขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้กระแสน้ำเปลี่ยนเส้นทางมาเข้าคลองลัด ต่อมาคลองลัดก็ขยายตัวเป็นแม่น้ำขณะที่แม่น้ำสายเดิมก็เล็กลงจนกลายเป็นคลอง

 

ในเมืองนนทบุรีบริเวณแม่น้ำที่ไหลคดเคี้ยวซึ่งได้กลายไปเป็นคลองหลังจากการขุดคลองลัด ยังคงมีชุมชนที่ผู้คนตั้งถิ่นฐานยังอย่างหนาแน่น โดยเฉพาะพื้นที่ฝั่งตะวันตกของเมืองนนทบุรีที่ปัจจุบันเรียกว่า คลองอ้อมนนท์ เป็นบริเวณที่น่าท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอย่างยิ่ง รวมถึงเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางประวัติศาสตร์ทางโบราณคดี

 

คลองอ้อมนนท์ หรือตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่ยังคงเรียกแม่น้ำอ้อม มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปากคลองบางกรวยตรงข้ามวัดเขมาภิรตารามในเขตอำเภอเมืองนนทบุรี ไหลไปจนถึงบริเวณบ้านบางศรีเมืองเลยวัดเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้นไปเล็กน้อยก่อนถึงสะพานพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว บริเวณนั้นคือปากคลองของแม่น้ำอ้อมทางด้านทิศเหนือ

 

เท่ากับว่าบริเวณปากคลองทิศเหนือตรงบ้านบางศรีเมืองจนถึงปากคลองบางกรวย ซึ่งปัจจุบันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ก็คือคลองลัดที่ขุดในปี 2479 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ตามพระราชดำริว่า แม่น้ำเจ้าพระยาไหลอ้อมเหลือเกิน เรือแพที่เป็นเรือสินค้าของต่างชาติเกิดปัญหามากที่จะเข้าไปไม่ถึงพระนครศรีอยุธยา จึงให้ขุดคลองลัดปากทางทั้งสอง ซึ่งแม่น้ำนั้นไหลเป็นรูปตัวยูปัจจุบันวัดระยะทางได้ประมาณ 17.5 กิโลเมตร ภายหลังก็กลายเป็นคลองอ้อมไป

 

บริเวณแม่น้ำอ้อมหรือคลองอ้อมนี้เป็นบริเวณที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เป็นแหล่งรวบรวมงานศิลปกรรมโบราณ แหล่งกำเนิดของนิทานพื้นบ้าน รวมถึงเป็นเส้นทางกวีนิราศที่เราสามารถเห็นประเพณีวิถีชีวิตไทยแบบดั่งเดิม ซึ่งมีอายุตั้งแต่สมัยต้นอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ 

 

ตลอดระยะทางราว 17 กิโลเมตร มีวัดโบราณสมัยอยุธยาตอนต้นจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์กว่า 60 แห่งตั้งอยู่ทั้ง 2 ฝั่งคลอง ซึ่งยังคงมีร่องรอยของงานศิลปกรรมโบราณในสภาพดี ทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรม และงานประณีตศิลป์ให้ศึกษาได้ในทุกวัด

 

วัดสำคัญๆ ได้แก่ วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระชนกชนนีในกรมสมเด็จพระศรีสุราลัยพระบรมราชชนนี สามารถชมงานศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ได้

 

วัดประชารังสรรค์ เดิมชื่อวัดย่าไทร มีพระพุทธรูปซึ่งชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อหิน แกะสลักจากหินทรายสีแดง และมีภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารเก่า

 

วัดปรางค์หลวง ซึ่งมีพระปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้นเป็นถาวรวัตถุสำคัญ มีตำนานเล่าขานเรื่องท้าวอู่ทองอพยพผู้คนหนีโรคห่าจากเมืองอู่ทองมาตั้งอยู่บริเวณวัดปรางค์หลวง ซึ่งชาวบ้านเล่าขานสืบกันมานับศตวรรษ

 

วัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ วัดปราสาท มีอุโบสถสมัยราชวงศ์บ้านภูหลวง เป็นอุโบสถตกท้องช้างทั้งยังเป็นโบสถ์มหาอุต มีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาสกุลช่างนนทบุรีซึ่งปัจจุบันลบเลือนลงไปมากแล้ว 

 

ปัจจุบัน กรมศิลปากรเข้าไปอนุรักษ์และขึ้นทะเบียนวัดหลายแห่งบริเวณคลองอ้อมนนท์เป็นโบราณสถานแล้ว หากสนใจจะไปเที่ยวชมวัดโบราณและวิถีชีวิตไทยตาม 2 ฝั่งคลองอ้อม ก็สามารถจ้างเรือหางยาวซึ่งเป็นเรือรับผู้โดยสารจากท่าน้ำนนทบุรี