ตักบาตรวันเข้าพรรษา

วันเข้าพรรษา เป็นวันแรกของการเข้าสู่พรรษากาล ซึ่งช่วงที่พระสงฆ์เริ่มต้นจำพรรษาอยู่กับวัดเป็นเวลา 3 เดือน โดยพระสงฆ์จะร่วมทำพิธีที่เรียกว่า อธิษฐานพรรษา คือการอธิษฐานแสดงความตั้งใจที่จะจำพรรษาไม่ไปค้างอ้างแรมที่ไหนจนครบพรรษากาล เป็นวันสำคัญวันหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนถือโอกาสไปทำบุญตักบาตร ซึ่งวันเข้าพรรษานั้น มีการตักบาตรอยู่ถึง 2 แบบด้วยกัน

 

การตักบาตรในรอบเช้า คือการทำบุญตักบาตรด้วยภัตราหารตามปรกติ แต่ก็มีธรรมเนียมปฏิบัติพิเศษที่ญาติโยมนิยมกระทำ แต่ไม่ถือเป็นธรรมเนียมบังคับ ด้วยวันเข้าพรรษาเป็นวันเริ่มต้นของการจำพรรษา พระสงฆ์จะไม่สามารถออกเดินบิณฑบาต รับกิจนิมนต์ในที่ไกลเกินสมควร หรือพักค้างอ้างแรม เป็นเวลาถึง 3 เดือน จึงมักจัดเตรียมอาหารคาวหวานอย่างเป็นพิเศษ เพื่อถวายพระสงฆ์เป็นมื้อแรกของเทศกาลเข้าพรรษา

 

ในพิธีของหลวงตามหมายกำหนดการพระราชกุศลในเทศกาลเข้าพรรษานั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ 150 รูป เข้าไปรับพระราชทานภัตตาหารบิณฑบาตในช่วงเช้า ณ พระบรมมหาราชวัง โดยโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าเป็นผู้แทนพระองค์ถวายภัตตาหาร สำหรับราษฎรทั่วไปนิยมไปวัดกันตั้งแต่เช้า โดยเตรียมอาหารที่จัดไว้อย่างดีเลิศ เป็นอาหารคาวหวาน ผลไม้ รวมทั้งเครื่องดื่ม เพื่อทำบุญใส่บาตรในตอนเช้าตรู่ หรืออาจไปที่วัดในช่วงสายเพื่อถวายเพลแด่พระสงฆ์

 

ในช่วงบ่ายของวันเข้าพรรษา จะมีธรรมเนียมการตักบาตรอีกหนึ่งรอบ โดยเป็นการถวายเครื่องสักการะแด่พระสงฆ์ ด้วยพระสงฆ์จะต้องลงโบสถ์เพื่อทำพิธีอธิษฐานพรรษา ดังนั้น ก่อนเข้าโบสถ์ไปนมัสการพระพุทธเจ้าและพระรัตนตรัย ญาติโยมก็มักจัดเตรียมของถวายมาใส่บาตร ได้แก่ ดอกไม้ ธูป เทียน จึงเป็นธรรมเนียมที่เรียกว่า การตักบาตรดอกไม้ หรือ การตักบาตรเทียน เกิดขึ้น ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวันเข้าพรรษาที่คนไทยนิยมทำกันมาตั้งแต่โบราณ 

 

ปัจจุบัน การตักบาตรดอกไม้เป็นที่นิยมอย่างมาก โดยเฉพาะงานตักบาตรดอกไม้ของวัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ซึ่งได้รับการส่งเสริมให้เป็นเทศกาลระดับจังหวัด จนกระทั่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีการประชาสัมพันธ์เป็นงานระดับชาติ โดยได้ขยายงานทำบุญตักบาตรดอกไม้ของวัดพระพุทธบาทออกเป็น 3 วัน เพื่อให้ผู้ศรัทธาและนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่นๆ สามารถเข้าร่วมงานได้อย่างทั่วถึง 

 

ในกรุงเทพฯ มีวัดใหญ่ๆ อย่างน้อย 3 แห่ง ที่มีการจัดงานตักบาตรดอกไม้หรือตักบาตรเทียน ได้แก่ วัดบวรนิเวศฯ วัดราชบพิธฯ และวัดเบญจมบพิตร ซึ่งวัด 2 แห่งแรกได้จัดงานประเพณีทำบุญตักบาตรดอกไม้เป็นประจำทุกปี เริ่มตั้งแต่เวลา 4 โมงเย็น ซึ่งมีประชาชนร่วมงานเป็นจำนวนมาก แต่ละครอบครัวจะจัดเตรียมดอกไม้ถวายตามกำลังศรัทธา ทำให้ภาพออกมาเหมือนเป็นงานแสดงดอกไม้นานาชนิด หรือแม้กระทั่งดอกไม้ประดิษฐ์แบบไทยๆ ทั้งมาลัย ทั้งพุ่มดอกไม้ที่ประดิษฐ์จากดอกไม้ชนิดต่าง ๆ อาทิ มะลิหอม ดอกพุทธ กลีบกุหลาบ กลีบกล้วยไม้ ก็ทำให้เกิดสีสันที่หลากหลาย

 

สำหรับที่วัดเบญจมบพิตรเป็นงานตักบาตรเทียน โดยเป็นงานในพระบรมราชูปถัมภ์ ต่อท้ายพิธีหลวงในพระราชกุศลเข้าพรรษา เริ่มประมาณบ่าย 2 โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระราชวงศ์เสด็จแทนพระองค์จุดเทียนพรรษาถวายพระพุทธชินราชจำลองในพระอุโบสถ ถวายพุ่มเทียนเป็นเครื่องสักการะปูชนียสถานต่างๆ ภายในในวัด หลังจากนั้น ผู้แทนพระองค์จะเป็นผู้แทนในพิธีตักบาตรเทียนแด่พระสงฆ์บริเวณลานหน้าพระอุโบสถ และเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนทั่วไปได้ร่วมถวายเทียนและดอกไม้ตามประเพณี