ตำนานพระร่วง

วันที่ออกอากาศ: 7 ตุลาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระร่วง ถือเป็นวีรบุรุษในตำนานของคนไทยมาตั้งแต่อดีตกาล ซึ่งในความจริงเป็นบุคคลสมมุติทางประวัติศาสตร์ที่คนไทยรับรู้ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณและเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาคมไทยปลดแอกจากรัฐขอม จนสามารถตั้งรากฐานบ้านเมืองของคนไทยที่เป็นอิสระ

 

ตำนานพระร่วงปรากฏเป็นตำนานปรัมปรา มุขปาถะ และนิทานชาวบ้าน ของกลุ่มคนไทยในหลายๆ ภูมิภาค ได้แก่ พงศาวดารเหนือ พงศาวดารมอญ แม้กระทั่งในตำนานของเมืองนครศรีธรรมราชก็มีการกล่าวถึงพระร่วงซึ่งเป็นกษัตริย์สุโขทัยมาอัญเชิญพระพุทธสิหิงส์ขึ้นไปประดิษฐานที่เมืองสุโขทัย

 

ตำนานพระร่วงในพงศาวดารเหนือที่กล่าวถึงพระองค์ในฐานะต้นวงศ์ของกษัตริย์สุโขทัยมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ พระร่วงสวรรคโลก กล่าวถึงพระร่วงที่เป็นโอรสของกษัตริย์องค์หนึ่ง ซึ่งครองเมืองแล้วออกไปบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าชื่อพระอภัยราชาคามณี โดยเหตุการณ์เกิดที่เมืองสวรรคโลก บริเวณแก่งหลวงซึ่งอยู่ในเขตอำเภอหน้าอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย

 

อีกตำนานหนึ่งคือ พระร่วงชาวละโว้ผู้มีวาจาสิทธิ์ ทรงเป็นบุตรของนายคงเครา หัวหน้าชาวไทยที่ต้องส่งส่วยน้ำให้ขอม  เมื่อถึงเวลาที่ชาวไทยต้องส่งส่วยน้ำโดยบรรจุในเครื่องดินเผาจากเมืองลพบุรีไปเมืองขอม เนื่องจากเครื่องดินเผาเป็นภาชนะหนัก พระร่วงจึงใช้วาจาสิทธิ์ขอให้ชะลอมสามารถใส่น้ำได้จึงทำให้การขนส่งน้ำมีน้ำหนักเบาและจัดส่งได้ทันเวลา

 

พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์กษัตริย์ขอมจึงเกิดความอาฆาตมาตรร้ายทำให้ต้องหนีไปบวชที่เมืองสุโขทัย กษัตริย์ขอมก็ส่งสายลับดำดินไปโผล่ที่ลานวัด พระร่วงจึงเอ่ยวาจาสิทธิ์ให้หยุดอยู่ตรงนั้นทำให้สายลับกลายเป็นหินไป

 

ตำนานพระร่วงชาวละโว้นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงนำมาพระราชนิพนธ์เป็นบทละครเรื่องพระร่วง ซึ่งเป็นเรื่องการปลดแอกประชาคมไทยและก่อตั้งรัฐอิสระจากของ โดยพระร่วงได้เป็นกษัตริย์ครองกรุงสุโขทัยสืบต่อมา โดยมีพระราชประสงค์เพื่อปลูกฝังให้คนไทยมีความยึดมั่นต่อชาติและพระมหากษัตริย์ ซึ่งทำให้คนไทยรับรู้วีรกรรมของพระร่วงตามตำนานฉบับมาจนถึงปัจจุบัน

 

การเชื่อมโยงพระร่วงกับการสืบเชื้อพระวงศ์ของกษัตริย์สุโขทัยค่อนข้างมีความคลุมเครือ เพราะในทางประวัติศาสตร์ถือว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นผู้สถาปนารัฐสุโขทัย จากการศึกษาจารึกสมัยสุโขทัยที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก็ไม่ได้กล่าวเรียกพระองค์และกษัตริย์ที่สืบเชื้อสายจากพระองค์ว่าพระร่วงเลย เพียงแต่ได้รับการเรียกขานจากเมืองใกล้เคียงว่าวงศ์พระร่วง

 

อย่างไรก็ตาม ก็มีการใช้คำว่าพระร่วงในการเรียกชื่อสถานที่โบราณต่างๆ อาทิ  โทรกพระร่วงลองพระขันธ์ ซึ่งเป็นร่องน้ำธรรมชาติที่ตำนานกล่าวว่าพระร่วงใช้พระขันธ์ฟันหินตรงนั้นให้แตกออกเป็นร่องน้ำ เพื่อให้น้ำจากเทือกเขาไหลลงไปยังเมืองสุโขทัยได้ ท่อปู่พญาร่วง ท่อส่งน้ำไปยังเมืองสุโขทัย ซึ่งคำว่า ปู่พญา ที่ปรากฏในจารึกสุโขทัยมักหมายถึงบรรพบุรุษที่กษัตริย์ให้ความเคารพนบนอบ ชื่อเรียกสถานที่โบราณเหล่านี้เป็นการแสดงถึงการรับรู้ถึงตำนานหรือความเป็นวีรบุรุษของพระร่วงในสังคมโบราณ

 

การเริ่มต้นใช้คำว่าพระร่วงแทนพระนามของกษัตริย์สุโขทัยนั้น ปรากฏอยู่ในพงศาวดารเหนือในเหตุการณ์ที่กษัตริย์ 3 พระองค์ที่เป็นพระสหายร่วมสาบานชี้พื้นที่สำหรับสร้างนครพิงค์ ได้แก่ พญามังรายของล้านนา พญางำเมืองของรัฐพะเยา และพระร่วงของสุโขทัย ซึ่งพระร่วงองค์นี้หมายถึง พระยารามราช หรือพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  

 

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีสันนิษฐานว่า พระร่วงที่นครรัฐต่างๆ ใช้เรียกกษัตริย์สุโขทัยนั้น คงหมายถึงพระยารามราชหรือพ่อขุนรามคำแหง โดยเรียกว่า พระยาร่วง หรือบางตำนานทางภาคเหนือเรียกเป็นภาษาบาลีว่า พญารังคราช ภายหลังจึงนำใช้เรียกกษัตริย์ที่สืบเชื้อพระวงศ์ต่อจากพ่อขุนรามคำแหงแทนด้วยคำว่าพระร่วงทั้งหมด แม้แต่ในสมัยอยุธยาก็ยังคงออกนามเชื้อพระวงศ์ที่สืบสายมาจากกษัตริย์สุโขทัยว่า วงศ์พระร่วง