ต้นกัลปพฤกษ์

วันที่ออกอากาศ: 27 กรกฎาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ต้นกัลปพฤกษ์ เป็นต้นไม้อุดมคติตามความเชื่อที่ปรากฎในในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา เช่น ไตรภูมิกถา คัมภีร์โลกสันฐาน รวมทั้งในพระสูตรต่างๆ ต่างกล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่อยู่ในอุตรกุรุทวีปบ้าง อยู่บนบนสวรรค์บ้าง แต่ไม่ได้อยู่ในโลกมนุษย์ อุตรกุรุทวีปเป็นทวีปที่มีความสุขสมบูรณ์ทุกอย่าง ไม่จำเป็นต้องมีข้าวของเครื่องใช้ติดตัว หากใครประสงค์สิ่งใดก็สามารถอธิษฐานจิตใต้ต้นกัลปพฤกษ์จะได้สิ่งของตามปรารถนา

 

ในไตรภูมิพระร่วงของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท กล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่มีอยู่มากมายทั่วไปในอุตรกุรุทวีป ต้นกัลปพฤกษ์มีความสูง 100 โยชน์ กว้าง 100 โยชน์ ผู้ใดปรารถนาหาทุนทรัพย์อันใดก็สามารถสำเร็จตามความระลึกถึง

 

นอกจากไตรภูมิพระร่วงแล้ว ในคติเกี่ยวกับพระศรีอาริยเมตไตรย ว่าด้วยเรื่องพระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต ก็กล่าวถึงต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นจากพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าศรีอาริยเมไตรยเมื่อทรงตรัสรู้ ซึ่งบังเกิดต้นกัลปพฤกษ์จำนวน 4 ต้นที่ปากประตูเมืองของโลกมนุษย์ แสดงถึงยุคอนาคตที่มหาชนต่างๆ จะอยู่อย่างมีความสุขสมบูรณ์

 

ในตำนานเกี่ยวกับประวัติอดีตชาติของพระอินทร์ตามคติทางพุทธศาสนา กล่าวว่าเดิมพระอินทร์เป็นบุรุษผู้ครองเรือนชื่อมาฆะมานพ มีภรรยา 4 คน มีบริวารจำนวน 32 คน ได้สร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ศาลาที่พักคนเดินทาง ด้วยอานิสงส์ของบุญกุศลทำให้บังเกิดเป็นพระอินทร์อยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งก็มีต้นกัลปพฤกษ์อยู่ในสวรรค์ ตามคัมภีร์กล่าวว่าลำต้นวัดความกว้างได้ 3 ถึง 5 โยชน์ สูงถึง 50 โยชน์ แผ่กิ่งก้านสาขาออกไปรอบๆ ลำต้นทั้งกว้างสูงและยาวเท่ากันคือ 100 โยชน์ 

 

ต้นกัลปพฤกษ์ จึงเป็นต้นไม้แห่งอุดมคติ เป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์พูลสุขในภพสวรรค์ เป็นมูลเหตุอันหนึ่งซึ่งปรัชญาเมธีโบราณสร้างขึ้นเป็นอุบายเพื่อจูงใจให้คนทำความดี ต้นกัลปพฤกษ์มีเข้ามามีบทบาทในงานพุทธศิลป์ โดยเฉพาะในงานภาพจิตรกรรมฝาผนังของช่างโบราณที่ถ่ายทอดคติไตรภูมิ วาดเป็นภาพต้นไม้แผ่กิ่งก้านสาขาร่มเงาใหญ่โต ตามกิ่งก้านสาขามีทรัพย์สิน แก้วแหวนเงินทอง เครื่องประดับต่างๆ แขวนอยู่ ซึ่งสะท้อนถึงความสุขสมบูรณ์

 

ในสังคมไทยยังได้ใช้ต้นกัลปพฤกษ์เป็นสัญลักษณ์ในพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้ทานทั้งในรูปแบบเงินทองและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในจารึกวัดป่ามะม่วงสมัยสุโขทัย ด้านที่ 2 ได้กล่าวถึงการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหาธรรมราชาลิไท โปรดให้จัดตกแต่งต้นกัลปพฤกษ์สำหรับถวายพระมหาสามีสังฆราชและพระเถวระผู้ใหญ่ โดยจัดต้นไม้จำลองเป็นต้นกัลปพฤกษ์ นำเครื่องบูชาเข้าตอกดอกไม้หมากพลู ทรัพย์สินและจตุปัจจัยต่างๆ แขวนไว้สำหรับถวายพระสงฆ์

 

สืบมาจนถึงสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ พบว่าในการพระเมรุพระเจ้าแผ่นดินหรือการถวายพระเพลิงราชวงศ์ชั้นสูง หรือในงานฉลิมฉลองสมโภชต่างๆ จะมีการสร้างต้นกัลปพฤกษ์จำลองสำหรับการทิ้งทาน มีการนำเหรียญสตางค์หรือเงินสอดไว้ในลูกมะนาวแล้วแขวนไว้ตามต้นกัลปพฤกษ์ หรือนำทรัพย์สินเงินทองผ้าผ่อนวางไว้ที่โคนต้นเพื่อเป็นทานแก่ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะคนยากคนจน 

 

คนไทยปัจจุบันยังรับรู้คติเรื่องต้นกัลปพฤกษ์ว่าเป็นต้นไม้ที่ให้ทรัพย์สมบัติต่างๆ จึงได้วิวัฒนาการมาเป็นกิจกรรมสอยกัลปพฤกษ์ โดยจัดสร้างต้นกัลปพฤกษ์จำลองแล้วนำฉลากมาแขวนไว้เพื่อนำไปขึ้นรางวัล ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังคงสะท้อนคติความเชื่อเกี่ยวกับต้นกัลปพฤกษ์ในฐานะสัญลักษณ์ของความสุขความอุดมสมบูรณ์สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน