ทำอย่างไรให้ลูกมีความสนใจวรรณคดีไทย

วันที่ออกอากาศ: 21 ธันวาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วรรณคดีไทย เป็นหนึ่งในวิชาพื้นฐานสำหรับผู้ที่ศึกษาในหลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต ซึ่งความคาดหวังของสังคมไทยที่มีต่อบัณฑิตอักษรศาสตร์ไม่ใช่เพียงความรู้ทางด้านภาษา แต่ยังรวมถึงความรู้ด้านวรรณคดี โดยเฉพาะวรรณคดีไทยที่นำไปสู่การเห็นคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมไทย รากเหง้าทางด้านภาษา รวมถึงความเข้าใจพื้นฐานต่อการศึกษาศิลปะไทยแขนงต่างๆ อาทิ จิตรกรรม สถาปัตยกรรม นาฏศิลป์ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ คนที่เลือกเรียนในสาขาอักษรศาสตร์รวมถึงทางด้านมนุษยศาสตร์สาขาอื่นๆ ควรทำความเข้าใจถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมไทย โดยไม่เอามาตรฐานของคนปัจจุบันไปวัดคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต

 

การมองเห็นคุณค่าของวรรณคดีไทยและมรดกทางวัฒนธรรมไทยแขนงอื่นๆ จำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งพ่อแม่ต้องเห็นความสำคัญ ยอมสละเวลาของตัวเอง และมีความรู้พอเข้าใจที่จะอธิบายให้ลูกฟังได้ รวมถึงสร้างสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่จะช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจต่อวรรณคดีไทย

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำเด็กไปร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับวรรณคดีไทยที่เป็นพื้นฐานของศิลปวัฒนธรรม อาทิ พาไปชมการแสดงโขน ซึ่งการแสดงโขนในปัจจุบัน โดยเฉพาะโขนพระราชทานที่จัดแสดงที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีการนำเทคนิคพิเศษสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ซึ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ชม เรื่องที่นำมาใช้แสดงก็คือรามเกียรติ์ เป็นเรื่องราวแนวจินตนาการและมีตัวละครที่มีสีสัน ทั้งยักษ์ วานร เทพเจ้า มีการต่อสู้เหาะเหินอากาศ ซึ่งน่าจะเรียกความสนใจจากเด็กๆ ได้เป็นอย่างดี

 

หรือการพาเที่ยวชมวัดที่มีภาพจิตรกรรมฝาฝนังสวยๆ  อย่างภาพรามเกียรติ์ที่ระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งมีคำอธิบายสั้นๆ ประกอบภาพด้วย ซึ่งช่วยกระตุ้นความสนใจให้แก่เด็กได้อีกทางหนึ่ง

 

เมื่อเด็กเกิดความสนใจแล้วจึงช่วยส่งเสริมให้เด็กเข้าใจเรื่องราวในวรรณคดี ซึ่งอาจเริ่มต้นจากพ่อหรือแม่อ่านเนื้อหาให้เด็กๆ ฟังพร้อมอธิบายเรื่องราวต่างๆ หรือส่งเสริมให้เด็กเริ่มต้นอ่านหนังสือด้วยตัวเอง ซึ่งเด็กๆ คงไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้ทั้งหมด แต่ก็พอที่จะจดจำภาพลักษณ์ของตัวละครต่างๆ เหตุการณ์สำคัญๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จะนำไปใช้ศึกษาหาความรู้ความเข้าใจต่อไปได้ในอนาคต วรรณคดีไทยสำคัญๆ ที่ควรส่งเสริมให้เด็กได้อ่าน ได้แก่ รามเกียรติ์ ลิลิตพระลอ พระอภัยมณี สามก๊ก เป็นต้น 

 

การส่งเสริมให้เด็กๆ ได้อ่านวรรณคดีไทยจะช่วยให้เด็กซึมซับเรื่องของการใช้ภาษาไทย ซึ่งวรรณคดีไทยถือเป็นแบบอย่างของการใช้ภาษาไทยที่สละสลวย และเป็นตัวอย่างของรูปแบบการเขียนในลักษณะต่างๆ ทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง กาพย์ ฉันท์ โคลง กลอนต่างๆ

 

นอกจากนี้ วรรณคดียังแฝงไว้ซึ่งความรู้ คติธรรม คำสอนต่างๆ อย่างเช่นในเรื่องรามเกียรติ์ที่เป็นบทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 ทรงแฝงคติธรรมและคติทางการเมืองการปกครองของกษัตริย์ ซึ่งยังคงเป็นสำนวนที่ติดปากคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึงความรู้เรื่องกลศึกยุทธศาสตร์ เชาว์ไหวพริบ การเอาตัวรอดในสถานการณ์ต่างๆ