ธรรมเนียมจีนในวัฒนธรรมไทย

วันที่ออกอากาศ: 22 มกราคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

สังคมไทยรับเอาขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมจีนมาผสมผสานอยู่ในวัฒนธรรมไทยอย่างมากมายจนแยกไม่ออก มีรากเหง้าของการบูรณาการทางวัฒนธรรมนับถอยหลังไปได้ตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา ซึ่งร่องรอยทางโบราณคดีพบว่างานศิลปะในยุคโบราณ เช่น ศิลปะมอญ ทวารวดี ล้านนา หรือเขมรโบราณ ล้วนแล้วแต่มีอิทธิของศิลปะจีนเข้าไปปะปนอยู่ด้วยทั้งสิ้น

 

จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าคนจีนไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะมีการติดต่อสัมพันธ์กันมาเนิ่นนาน

 

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รับเอาวัฒนธรรมจีนมาได้ง่าย เพราะมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ความยึดมั่นในบรรพบุรุษและครอบครัว มีวัฒนธรรมข้าวร่วมกัน และความศรัทธาในศาสนาที่ใกล้เคียงกัน แม้ว่าสังคมจีนมีหลักปรัชญาต่างๆ ที่นับถือ เช่น ปรัชญาของขงจื้อ ปรัชญาเต๋า แต่ชาวจีนก็ยังนับถือพุทธศาสนาเช่นกัน

 

นอกจากนี้ หลักการของขงจื้อของเต๋า ก็ผนวกกับหลักพุทธศาสนาจนเกือบเป็นเนื้อเดียวกันในสังคมของจีน ดังนั้น การบูรณาการวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมจีนจึงเกิดขึ้นและต่อเนื่องมาหลายชั่วอายุคน ทั้งที่เป็นการแลกเปลี่ยนหรือเลือกรับเอามาปรับใช้ 

 

ประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษในปัจจุบัน แม้ส่วนใหญ่เป็นธรรมเนียมของคนไทยเชื้อสายจีน แต่คนไทย ที่ไม่มีเชื้อสายจีนบางส่วนก็อนุโลมรับเอาธรรมเนียมนี้มาปรับใช้ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ ในเทศกาลตรุษจีนด้วย ก็เซ่นไหว้ด้วยอาหารการกิน เครื่องสักการะต่างๆ ตามที่ประเพณีจีนใช้ ทั้งนี้ คนไทยไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องแปลก เนื่องจากคนไทยก็นิยมทำบุญให้บรรพบุรุษในวันสงกรานต์เช่นกัน

 

ในเรื่องเกี่ยวกับศาสนา แม้ว่าคนจีนกับคนไทยนับถือพุทธศาสนาต่างนิกายกัน คือ จีนมหายานและไทยเถรวาท แต่ก็มีชาวพุทธไทยจำนวนมากนิยมไปไหว้พระไหว้เจ้าในวัดมหายาน เช่น วัดเล่งเน่ยยี่ หรือ วัดมังกรกมลาวาส ที่เยาวราช

 

วัดบรมราชากาญจนาภิเษก ที่บางบัวทอง ก็เป็นวัดมหายานฝ่ายจีนที่ใหญ่โตและได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ไทยสืบต่อมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นวัดที่พุทธศาสนิกชนทั้งคนจีน คนเชื้อสายจีน และคนไทยนิยมไปทำบุญ ซึ่งก็ไม่ได้ไหว้แต่พระพุทธเจ้า แต่รวมถึงพระอรหันต์และเทพยดาต่างๆในพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระโพธิสัตว์หลายองค์ในฝ่ายมหายาน คนไทยก็รับเอามาบูชาเช่นกัน 

 

ในประเพณีหลวง ราชสำนักไทยก็รับเอาธรรมเนียมจีนมาปรับใช้ ในเทศกาลตรุษจีนก็มีพระราชพิธีสำคัญ คือ พระราชพิธีสังเวยพระป้าย เป็นการถวายเครื่องสักการะบวงสรวงพระนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ณ พระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ พระราชวังบางประอิน อยุธยา

 

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ตรุษจีนเป็นเทศกาลที่คหบดีเชื้อสายจีนจะนำข้าวของจำนวนมากไปทูลเกล้าถวาย ก็โปรดให้จัดพระราชกุศลเลี้ยงพระตรุษจีนเพื่อนำข้าวของมาทำบุญเป็นกุศลแก่ผู้ถวาย หรือในการพระบรมศพพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสี หรือพระศพเจ้านายพระองค์สำคัญต่างๆ ก็มีการอาราธนาพระสงฆ์จากฝ่ายมหายาน คือ ฝ่ายจีนนิกายและฝ่ายญวนนิกาย เข้ามาประกอบพิธีกงเต็กเป็นพระราชกุศลด้วย 

 

นอกจากเรื่องขนบธรรมเนียมแล้ว ในเขตพระราชฐานก็มีร่องรอยการก่อสร้างสถาปัตยกรรมหรือการตกแต่งแบบศิลปะจีนปรากฏอยู่ทั่วไป ซึ่งผสมผสานกับศิลปะแบบไทย เช่น ทวารบาลที่ประตูเข้าเขตพระราชฐานต่างๆ ก็เป็นประติมากรรมจีนอย่างนักรบจีนหรือสิงโตจีน ในวัดวาอารามที่พระมหากษัตริย์ไทยที่ทรงสร้างและอุปถัมภ์ ก็ล้วนแล้วแต่มีการผสมผสานทางศิลปกรรมจีนให้อยู่ทั่วไป