น้ำดื่มของคนไทย

วันที่ออกอากาศ: 6 พฤษภาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

น้ำ ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิต มนุษย์จึงเลือกตั้งชุมชนที่มีถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำจืดเพื่อนำน้ำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค โดยมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์รู้จักพัฒนาภูมิปัญญาการจัดการน้ำและการชลประทานขั้นพื้นฐานเพื่อให้มีปริมาณน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอต่อความต้องการของคนในสังคม อาทิ การสร้างอ่างกักเก็บน้ำ การสร้างเขื่อน การทำฝาย การขุดคูคลองสำหรับส่งน้ำ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ ยังมีภูมิปัญญาในเรื่องการจัดการแหล่งดื่มที่มีความใสสะอาดเพียงพอ ทั้งวิธีการกรองน้ำผ่านบ่อทราย การพักน้ำให้เกิดการตกตะกอน และการหมุนเวียนของกระแสน้ำ ตลอดจนภูมิปัญญาในการรักษาความสะอาดของแหล่งน้ำเพื่อไม่ให้เกิดสิ่งปฏิกูลต่างๆ ในน้ำ

 

ภูมิปัญญาการจัดการน้ำสะอาดสำหรับบริโภคนั้น พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่นับย้อนไปได้ถึงสมัยสุโขทัย หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดคือ ศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้กล่าวถึงการสร้างตะพังโพยในเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นสระน้ำสาธารณะสำหรับเก็บน้ำสะอาดไว้อุปโภคบริโภค ดังกรากฏข้อความว่า

 

มีตะพังโพยสีใสกินดี ดั่งกินน้ำโขงเมื่อแล้ง

 

แหล่งน้ำดื่มของเมืองสุโขทัยมาจากการนำน้ำจากเทือกเขาทางทิศตะวันตกของตัวเมือง ซึ่งทำเป็นทำนบสำหรับกักเก็บน้ำฝนจากเทือกเขาไว้ ชื่อว่า ทำนบพระร่วง หรือ สรีดภงส์ โดยทดน้ำที่อยู่เหนือทำนบนั้นส่งมายังตัวเมืองทางคลองส่งน้ำชื่อว่า คลองเสาหอ แล้วจึงทดน้ำเข้าไปยังตะพังโพยด้วยระบบท่อประท่อที่ทำจากวัสดุสังคโลก การส่งต่อน้ำให้ไหลลงมาเป็นทอดๆ แบบนี้จะทำให้เกิดน้ำที่ใสสะอาดเพียงพอต่อการดื่มกินและชำระร่างกาย 

 

ต่อมาในสมัยอยุธยา ที่ตั้งของราชธานีมีแม่น้ำหลายสายไหลผ่านทำให้มีแหล่งน้ำใช้บริบูรณ์ แต่น้ำจากแม่น้ำที่เรียกว่า น้ำท่านั้น ไม่ใสสะอาดเท่าน้ำฝนอย่างในเมืองสุโขทัย จึงใช้ภูมิปัญญาการจัดหาน้ำสะอาดที่แตกต่างกัน

 

ตามบันทึกของซีมง เดอ ลา ลูแบร์ บุคคลในคณะทูตฝรั่งเศสที่ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กล่าวว่าประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมอยุธยามีกรรมวิธีทำให้สะอาดด้วยการตักน้ำจากแหล่งน้ำขึ้นมาพักไว้ในภาชนะใบใหญ่ เช่น ตุ่ม หรือ ครุ ประมาณ 3-4 สัปดาห์เพื่อให้เกิดการตกตะกอน แล้วจึงได้น้ำใสสำหรับการอุปโภค ถ้าหากจะนำมาบริโภคเป็นน้ำดื่มจะต้องผ่านการต้มอีกครั้ง

 

ซึ่งตรงกับหลักฐานของชาวตะวันตกชาติอื่นๆ ที่กล่าวถึงวัฒนธรรมการดื่มน้ำของผู้คนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่านิยมการบริโภคน้ำดื่มที่ผ่านการต้มสุกมาแล้ว

 

สิ่งที่น่าสนใจในวัฒนธรรมการดื่มน้ำของคนไทยอีกประการหนึ่ง คือ เรื่องแหล่งตักน้ำของราชสำนัก สำหรับใช้เป็นน้ำเสวยของพระมหากษัตริย์ เนื่องจากมีจารีตหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนดเป็นราชประเพณีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาว่าพระมหากษัตริย์ไม่ทรงดื่มน้ำที่มีเลนหรือตม

 

ดังนั้น น้ำเสวยสำหรับพระมหากษัตริย์อยุธยาจะต้องตักน้ำจากแม่น้ำขนาดใหญ่ มิใช่แหล่งน้ำตื้น ซึ่งธรรมเนียมนี้ยังคงปฏิบัติสืบมายังในสมัยรัตนโกสินทร์

 

อย่างเช่นในสมัยรัชกาลที่ 4  ทรงโปรดเสวยน้ำที่ตักจากบริเวณจุดบรรจบของแควน้อยกับแควใหญ่หน้าเมืองกาญจนบุรี ตามที่ปรากฏในจดหมายเหตุพระราชหัตถเลขาในรัชกาลที่ 5  ว่ารัชกาลที่ 4 มีพระราชนิยมว่าน้ำบริเวณที่เป็นจุดกำเนิดแม่น้ำแม่กลองนี้เป็นน้ำที่ดื่มแล้วปราศจากโทษ

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเสวยน้ำที่ตักมาจากแม่น้ำเพชรบุรี ทรงให้กรมการเมืองคุมการตักน้ำใส่โอ่งใบใหญ่ลำเลียงทางเรือส่งเข้ามาในกรุงเทพฯ ครั้งละจำนวนมาก เพื่อนำมาพักไว้ใช้เป็นน้ำสำหรับเสวย

 

จนกระทั่งราว พ.ศ. 2465 ในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อทรงเริ่มกิจการการประปาในกรุงเทพฯ แล้ว พบว่าน้ำประปาเป็นน้ำผ่านกระบวนการทำให้สะอาดที่ดีที่สุด จึงได้ยกเลิกธรรมเนียมการตักน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรีมาใช้เสวย แต่ยังคงใช้ในพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น พระบรมราชาภิเษก การสรงพระมูลธาภิเษกของพระมหากษัตริย์ เป็นต้น