ประเพณีนิยมในวันปีใหม่ของคนไทย

วันที่ออกอากาศ: 1 มกราคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การถือวันที่ 1 มกราคม เป็นวันปีใหม่ไม่ได้อยู่ในธรรมเนียมปฏิบัติของไทยเรามาแต่ดั่งเดิม แต่เป็นธรรมเนียมที่รับมาจากวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินมาตรฐาน

 

การรับเอาธรรมเนียมตะวันตกนี้มาปรับประยุกต์ใช้ในธรรมเนียมไทย สามารถนับย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสากล แต่ด้วยเหตุบางประการทำให้กลับไปใช้เดือนเมษายนตามธรรมเนียมเดิม จนกระทั่งปี 2484 จึงได้ใช้วันที่ 1 มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่มาจนถึงปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ นอกจากการประกาศวันขึ้นปีใหม่ตามแบบตะวันตก ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงริเริ่ม ก็ทรงนำธรรมเนียมปฏิบัติในเทศกาลปีใหม่ของตะวันตกเข้ามาปรับใช้เป็นธรรมเนียมเทศกาลขึ้นปีใหม่แบบไทยๆ ด้วย 

 

การส่งบัตรอวยพร ส.ค.ส. (ส่งความสุข) เป็นธรรมเนียมตะวันตกที่เรารับมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 และเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน เราสามารถส่ง ส.ค.ส. ให้ได้ทั้งผู้อาวุโสกว่า คนรุ่นเดียวกัน หรือผู้ที่อ่อนอาวุโสกว่า ปัจจุบัน ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมก็เริ่มมีจำหน่ายกันอย่างเอิกเกริก กระทั่งบางหน่วยงานทั้งราชการและเอกชนก็ผลิตขึ้นมาใช้เองเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

 

ธรรมเนียมการให้ของขวัญปีใหม่ก็ริเริ่มเกิดขึ้นในสมัยเดียวกัน แต่ไม่อาจกล่าวว่าเรารับธรรมเนียมนี้มาจากตะวันตก ทั้งนี้ ในวัฒนธรรมไทยก็มีการให้ของขวัญมาช้านานแล้ว และตามธรรมเนียมตะวันตกก็ไม่มีการให้ของขวัญในวันปีใหม่ แต่เป็นการให้ของขวัญภายในครอบครัวในวันคริสต์มาส

 

ปัจจุบัน เรานิยมให้ของขวัญในวันปีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมอบกระเช้า ซึ่งห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็จัดเตรียมไว้จำหน่ายอย่างพร้อมสรรพ โดยมีราคาตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหมื่นบาท ต่อมาเป็นเรื่องการจัดงานเลี้ยงปีใหม่ ซึ่งปรับใช้มาจากงานสังสรรค์ภายในครอบครัวช่วงวันสงกรานต์ของไทยและเทศกาลคริสต์มาสของตะวันตก ปัจจุบันก็นิยมจัดเป็นงานเลี้ยงประจำปีของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเป็นวันรวมญาติอีกวันของคนไทย

 

ยังมีธรรมเนียมตะวันตกที่เรารับมาใช้ช่วงไม่เกิน 20 ปีมานี้ คือ การนับ เคาท์ดาวน์ (countdown) ซึ่งประเทศต่างๆ ในยุโรปจะมีประชาชนมารวมตัวในคืนวันที่ 31 ธันวาคม บริเวณพื้นที่สำคัญของเมืองหลวง อย่างเช่น จตุรัสทราฟัลการ์ ในลอนดอน ถนน ช็องเซลิเซ ในปารีส เพื่อร่วมนับถอยหลังเข้าสู่วันขึ้นปีใหม่ แล้วจุดพลุดอกไม้ไฟเพื่อเฉลิมฉลอง ธรรมเนียมนี้เข้ามาในประเทศไทยโดยห้างสรรพสินค้าต่างๆ เป็นผู้ริเริ่ม 

 

นอกจากนี้ ยังมีธรรมเนียมปีใหม่ที่เราคิดขึ้นหรือปรับใช้จากวัฒนธรรมเดิมของเรา อย่างเช่น การลงนามถวายพระพรในเทศกาลขึ้นปีใหม่ ริเริ่มในราชสำนักไทยตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้คณะทูตานุทูตและเจ้าหน้าที่ต่างประเทศได้ลงนามถวายพระพรในวันที่ 1 มกราคม โดยพระราชทานปฏิทินหลวงเป็นของที่ระลึก

 

ธรรมเนียมนี้ยังคงปฏิบัติสืบมาจนถึงปัจจุบัน โดยโปรดเกล้าให้จัดให้มีการลงนามถวายพระพรทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค เช่น ศาลาสหทัยสมาคม พระบรมมหาราชวัง พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศ เชียงใหม่ พระตำหนักภูพานราชนิเวศ สกลนคร พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

 

ยังมีการรื้อฟื้นธรรมเนียมเก่าทางพุทธศาสนาขึ้นมา อาทิ การสวดมนต์ข้ามปี ซึ่งเป็นธรรมเนียมของราชการที่ปฏิบัติมาเกินกว่า 30 ปี โดยอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์เจริญชัยมงคลคาถาเพื่อความเป็นสิริมงคล การทำบุญไหว้พระ 9 วัดในเทศกาลขึ้นปีใหม่ ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน 

 

ทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นธรรมเนียมปีใหม่ของไทย ทั้งที่ปรับใช้จากธรรมเนียมของต่างชาติ หรือที่นำธรรมเนียมเดิมซึ่งอยู่บนพื้นฐานของคติความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ามาปรับประยุกต์ใช้ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่มีขึ้นเพื่อหาสิ่งที่เรียกว่า เป็นสิริมงคล ให้กับชีวิตของทุกคนในโอกาสขึ้นปีใหม่