ประเพณีพิธีกรรมเกี่ยวกับการปลูกข้าว

วันที่ออกอากาศ: 10 มิถุนายน 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

การปลูกข้าวเป็นการสร้างแหล่งอาหารหลักของคนไทยและคนภูมิภาคอุษาคเนย์มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เนื่องจากการปลูกข้าวจำเป็นต้องพึ่งพาธรรมชาติซึ่งเป็นปัจจัยที่มนุษย์ควบคุมไม่ได้ ผู้คนในภูมิภาคนี้จึงประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับการปลูกข้าวเพื่อเป็นหลักประกันทางจิตใจ มีวัตถุประสงค์เพื่อ

 

(1) เป็นการขอร้องอ้อนวอนต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ ทั้งหลาย เช่น ผี  สิ่งลึกลับ หรือเทวดาฟ้าดินต่างๆ ให้ช่วยดูแลรักษาต้นข้าวให้เจริญงอกงาม ให้ได้ผลผลิตตามจำนวนที่ต้องการ

 

(2) เป็นการบอกกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประจำอยู่ในธรรมชาติ เพื่อขออนุญาตใช้สอยทรัพยากรต่างๆ ในการเพาะปลูก เช่น แม่พระธรณี ในการขอใช้พื้นดิน พระแม่คงคา ในการขอใช้น้ำ เป็นต้น

 

(3) เป็นการขอขมาต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ หรือแม้แต่สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงสัตว์แรงงานที่ใช้ในการปลูกข้าว

 

(4) เป็นการเสี่ยงทายว่าจะได้ผลผลิตดีหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เพื่อความสบายใจ หรือหากเสี่ยงทายแล้วได้ผลที่ไม่ดีจะได้หาทางแก้ไขต่อไป เช่น การบำรุงเพิ่มแร่ธาตุอาหารในดินและต้นข้าว การขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว เป็นต้น

 

พิธีกรรมในการปลูกข้าวสามารถจำแนกตามลักษณะและช่วงเวลาในการประกอบพิธีกรรมออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

 

พิธีกรรมก่อนลงมือปลูกข้าว เป็นการบอกกล่าวผีบรรพบุรุษ ผีประจำหมู่บ้าน ผีประจำชุมชน หรือผีเมือง เพื่อขออนุญาตเริ่มต้นปลูกข้าวในปีนั้นๆ และขอให้บุญบารมีช่วยคุ้มครองให้ได้ผลผลิตตามที่ต้องการ รวมถึงขอให้ผู้ปลูกมีสุขภาพดีมีเรี่ยวแรงปลูกข้าวจนถึงเก็บเกี่ยว ซึ่งในแต่ละภูมิภาคจะมีลักษณะพิธีกรรมคล้ายๆ กัน คือ การนำอาหารมาเซ่นสรวงสังเวยผี การนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์เพื่อเป็นสวัสดิมงคล รวมถึงการทำบุญกุศลอุทิศให้แก่บรรพบุรุษ

 

ในกรณีที่ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลจะต้องประกอบพิธีกรรมขอฝน ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เช่น ในภาคอีสานจะมีการจุดบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถนซึ่งเป็นผีที่มีอำนาจสูงสุดบนฟ้า ในภาคกลางมีพิธีกรรมแห่นางแมว การบูชาพระคันธราช หรือพระราชพิธีพิรุณศาสตร์ ซึ่งเป็นพิธีหลวง เป็นต้น

 

พิธีกรรมระหว่างปลูกข้าว เริ่มจากพิธีแรกนา ซึ่งเป็นการเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกข้าวและขั้นตอนการหว่านเมล็ด หรือก่อนถอนต้นกล้าไปปักดำในแปลงนาจะต้องประกอบพิธีแรกดำนา เพื่อเป็นการบอกกล่าวพระแม่โพสพซึ่งถือเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาต้นข้าว

 

เมื่อต้นข้าวกำลังออกรวงตั้งท้องอ่อนๆ ก็ประกอบพิธีทำขวัญข้าว ซึ่งเป็นพิธีทั้งทางพุทธและทางไสย มีการถวายสิ่งของต่างๆ บูชาแม่โพสพให้ดูแลรักษาต้นข้าวไม่ให้ศัตรูพืชชนิดต่างๆ มาทำลาย และหากมีน้ำมากเกินไปจะประกอบพิธีไล่เรือ เพื่อขับไล่น้ำออกไปไม่ให้ท่วมต้นข้าว

 

พิธีกรรมช่วงเก็บเกี่ยวและได้ผลผลิตแล้ว มีการบอกกล่าวเพื่อขออนุญาตเก็บเกี่ยวผลผลิต เมื่อเก็บเกี่ยวได้ข้าวแล้วจะประกอบพิธีนวดข้าว เนื่องจากการนวดข้าวนั้นจะเอารวงข้าวฟาดลงกับพื้นหรือใช้วัวหรือควายมาเหยียบรวง จึงต้องบอกกล่าวขอขมาพระแม่โพสพ เมื่อนำข้าวเปลือกมาเก็บที่ยุ้งฉางก็ประกอบพิธีเปิดยุ้งหรือเปิดฉาง แล้วนำผลผลิตแรกเก็บเกี่ยวที่ได้ไปทำทานข้าว คือการนำข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ในครั้งแรกไปทำบุญกับพระสงฆ์ ซึ่งเรียกว่าเทศกาลสารทเดือน 10

 

หลังจากหมดฤดูทำนาแล้วจะประกอบพิธีกรรมทำขวัญวัว ขวัญควาย เพื่อเป็นการขอบคุณและขอขมา จนกระทั่งการนำผลผลิตข้าวไปขายก็ต้องประกอบพิธีตักข้าว ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมสุดท้าย

 

จะเห็นได้ว่าคนไทยมีพิธีกรรมตามความเชื่อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าวมากมาย  โดยเฉพาะความเชื่อในเรื่อง แม่โพสพ ซึ่งเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่รักษาต้นข้าว ดังนั้น ในทุกๆ กระบวนการตั้งแต่ก่อนลงมือปลูกข้าวไปจนถึงหลังการเก็บเกี่ยว ชาวนาจะประกอบพิธีกรรมต่างๆ เพื่อบอกกล่าว ขออนุญาต และขอขมาแม่โพสพ ทั้งนี้ โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร อันนำมาซึ่งความสุขของคนในสังคม