ประเภทของจิตรกรรมฝาผนังในวัดโพธิ์

วันที่ออกอากาศ: 11 มกราคม 2558
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วัดพระเชตุพนวิมลมังคราราม หรือ วัดโพธิ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอกขนาดใหญ่ที่มีผลงานสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะประเภทจิตรกรรมอยู่อย่างมากมาย ถือเป็นแหล่งที่รวบรวมภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้ได้มากที่สุด

 

มีภาพจิตรกรรมฝาผนังปรากฎอยู่ทั้งในอาคารขนาดเล็ก ไปจนถึงอาคารขนาดใหญ่ระดับพระอุโบสถและพระวิหาร ซึ่งภาพเกือบทั้งหมดเป็นผลงานจิตรกรรมฝาผนังในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3

 

หากพิจารณามุมมองในเชิงประวัติศาสตร์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดพระเชตุพนฯ สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ

 

ประเภทแรก คือ ทางคดีธรรม ซึ่งเป็นเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ทั้งเรื่องการสอนในเชิงนัยประวัติ ได้แก่ ประวัติของพระพุทธเจ้า ประวัติของพระสาวก ประวัติของพระภิกษุณี อุบาสกหรืออุบาสิกาคนสำคัญที่กล่าวไว้ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา รวมถึงการสอนในเชิงธรรมะ เรื่องบาปบุญคุณโทษ การปฏิบัติธรรม หัวข้อธรรมะต่างๆ

 

ประเภทที่สอง เป็นจิตรกรรมฝาผนังในเชิงคดีโลก เป็นการให้ความรู้สรรพวิชาต่างๆ ที่ไม่ใช่ห้วข้อธรรมะ ซึ่งในการปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังครารามสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดให้รวบรวมความรู้และวิทยาการในสาขาต่างๆ ทั้งวรรณคดี วรรณกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ตำรายา สุขวิทยาต่างๆ ถ่ายทอดเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเพื่อให้ผู้คนได้ศึกษาความรู้นั้นๆ ในเชิงรูปธรรม อาทิ ภาพตำราการนวด ภาพรามเกียรติ์ ภาพสัตว์หิมพานต์ ภาพขนบประเพณีและคติคตินิยมในสังคมไทย ภาพพงศาวดารจีน ภาพการค้าเรือสำเภา รวมถึงภาพชนชาติ 12 ภาษา

 

ในเชิงคดีธรรมมีภาพจิตรกรรมที่สำคัญอยู่มากมาย เริ่มจากภาพในพระอุโบสถซึ่งเป็นเสมือนศูนย์กลางของวัด พระอุโบสถนี้สร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้เขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามขนบธรรมเนียมใหม่ ได้แก่ภาพมโหสถชาดก หนึ่งในทศชาติชาดกซึ่งสะท้อนเปรียบเทียบถึงปัญญาบารมีและความเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาขององค์รัชกาลที่ 3

 

รวมถึงภาพพระอรหันต์เอตทัคคะ 41 องค์ เป็นภาพประวัติของพระอรหันต์ 41 องค์ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกให้เป็นความดีเด่นหรือมีจริยวัตรที่โดดเด่นในแต่ละด้าน

 

ในวิหารพระพุทธไสยาสน์ ภาพจิตรกรรมฝาผนังส่วนเหนือช่องหน้าต่างทั้ง 4 เป็นเรื่องคัมภีร์มหาวงศ์หรือพงศาวดารของลังกาทวีป การประดิษฐานพระพุทธศาสนาในลังกาทวีปหรือเกาะศรีลังกา ซึ่งเป็นต้นทางพระพุทธศาสนาก่อนเข้ามาเจริญในประเทศไทย

 

นอกจากนี้มีภาพประวัติบุคคล 3 ประเภท ได้แก่ พระพุทธสาวิกา หรือ ภิกษุณีเอตทัคคะ 13 องค์ เรื่องอุบาสกเอตทัคคะและอุบาสิกาเอตทัคคะ ซึ่งกล่าวถึงอุบาสกและอุบาสิกาในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง อาทิ พระเจ้าพิมพิสาร อนาถบิณฑิกเศรษฐี นางวิสาขา เป็นต้น 

 

ในเขตพุทธาวาสของวัดพระเชตุพนฯ ยังมีวิหารตั้งอยู่บนแนวระเบียงคตรอบพระอุโบสถทั้ง 4 ทิศ วิหารทิศตะวันออก มีภาพจิตรกรรมเรื่องพระโยคาวจรพิจารณาสุภาษิต ซึ่งเป็นธรรมะขั้นสูงของพระสงฆ์และพระธุดง ภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ  วิหารทิศตะวันตก มีจิตรกรรมพุทธประวัติเกี่ยวกับพระเกศาธาตุ

 

วิหารทิศเหนือ มีจิตรกรรมเรื่องไตรภูมิและโลกสันฐาน และวิหารด้านทิศใต้ มีภาพจิตรกรรมพระพุทธประวัติ 2 เรื่อง ได้แก่ ตอนแสดงปฐมเทศนาหรือเทศนาธรรมจักร และตอนเทศนาดาวดึงส์ กล่าวถึงเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนดาวดึงส์และเทศนาโปรดพระพุทธมารดา