พระพิมพ์ พระเครื่อง

ออกอากาศวันที่ 8 กันยายน 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระพิมพ์ เป็นรูปเคารพแทนองค์พระพุทธเจ้าที่สร้างขึ้นด้วยวิถีการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ โดยวัสดุหลักๆ ที่นำมาปั้นเนื้อพระ ได้แก่ ดิน ขี้เถ้า มวลสารต่างๆ หรือแม้กระทั่งอัฐิของพระสงฆ์ที่เชื่อว่าเป็นพระอรหันต์  หรืออัฐิของพระสงฆ์ที่เป็น เกจิอาจารย์ หรือแม้แต่อัฐิคนธรรมดา ซึ่งการทำพระพิมพ์ในสมัยโบราณถือว่าเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่ช่วยสร้างบุญอุทิศให้กับผู้ตาย

 

สันนิษฐานว่าเริ่มมีการสร้างพระพิมพ์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 5-6 หลังจากการสร้างพระพุทธรูปและสังเวนียสถาน ซึ่งเริ่มสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 3 ในสมัยโบราณการสร้างพระพิมพ์ทำขึ้นเพื่อบรรจุในกรุของสถูปเจดีย์

 

ในกรุหนึ่งๆ จะบรรจพระพิมพ์ไว้เป็นจำนวนมาก อาจมีจำนวนถึง 48,000 องค์เท่าจำนวนพระธรรมขันธ์ ซึ่งมาจากแนวคิดเรื่องการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา มีคติความเชื่อเรื่อง ปัญจอัตรธาร หรือความเสื่อมสลายของศาสนาในราว 5,000 ปี จึงคิดสร้างพระพิมพ์บรรจุในกรุสำหรับคนในชั้นหลัง

 

ภายหลังจึงมีแนวคิดการสร้างพระพิมพ์เพื่อเป็นของที่ระลึกสำหรับคนไปนมัสการสังเวชนียสถานหรือผู้บริจาคปัจจัยต่างๆ มีการสร้างพระพิมพ์เป็นรุ่นๆ ซึ่งได้รับความนิยมแตกต่างกันไป

 

พระพิมพ์ แบ่งเป็นออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ตามเนื้อของวัสดุที่ได้ ดังแก่ 

 

(1) วัสดุที่เป็นดิน คือ ดินเหนียวเนื้อดี ผสมกับมวลสารชนิดต่างๆ ซึ่งสร้างคุณค่าและมูลค่าให้แก่พระพิมพ์ อาทิ อัฐิธาตุ ชายจีวร ดอกไม้ ขี้เถ้าจากธูป ขี้ผึ้งจากเปลวเทียน เป็นต้น พระพิมพ์ที่ไม่นำมาเผาให้แห้ง เรียกว่า พระพิมพ์ดินดิบ ซึ่งรอให้เนื้อพระพิมพ์แห้งเอง ซึ่งไม่คงทนเหมือนกับพระพิมพ์ที่เผาก่อนบรรจุในกรุสถูปเจดีย์ 

 

(2) พระพิมพ์ที่ผลิตจากวัสดุชนิดอื่น เช่น ดีบุก ตะกั่ว หรือที่เรียกว่า เนื้อชิน ภายหลังมีความนิยมใช้ทองคำและเงิน นำมาหล่อเป็นพระพิมพ์ ซึ่งพระพิมพ์ประเภทนี้มีจำนวนน้อยกว่า เนื่องจากใช้ต้นทุนสูงและต้องอาศัยแม่พิมพ์ที่มีความคงทนมากสำหรับเทโลหะที่หลอมละลายด้วยความร้อนสูง ปัจจุบันมีการนำเครื่องจักรมาใช้ผลิตในรูปแบบของเหรียญโลหะ ซึ่งผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก

 

สำหรับคำว่า พระเครื่อง เพิ่งเริ่มมีปรากฏในสมัยรัตโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 4 โดยเรียกรวมเครื่องรางต่างๆ ที่เชื่อว่าทำให้เกิดพุทธคุณแก่ผู้ที่มีไว้บูชา ซึ่งนับรวมถึง พระพิมพ์ เข้ามาอยู่ในกลุ่มพระเครื่องด้วย

 

คติความเชื่อเรื่องพระพิมพ์มักเชื่องโยงกับอำนาจพุทธคุณที่ก่อเกิดประโยชน์ทางด้านใดด้านหนึ่งแก่ชีวิต แต่พระเครื่องจะหมายรวมความถึง เครื่องรางของขลังอื่นๆ ที่มักมีคติความเชื่อปะปนร่วมกับทางไสยเวช เช่น เขี้ยวเสือ เล็บเสือ หรือกระดูกสัตว์ที่เป็นสัตว์ดุร้าย มักบูชาร่วมกับพระพิมพ์ ซึ่งมีฐานะเป็นเครื่องรางมาตั้งแต่โบราณ ที่เรียกว่า พระเครื่องราง ภายหลังต่อมาคำว่ารางเลือนหายไปกลายเป็นคำว่า พระเครื่อง

 

ในทางวิชาการ พระพิมพ์ เป็นวัตถุที่แสดงถึงวิวัฒนาการลักษณะของพุทธศิลป์ของประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พระพิมพ์คือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ทั้งทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ศิลป์

 

ส่วนหนึ่งแสดงให้เห็นวิชาช่างในยุคต่างๆ มุมมองและรสนิยมของคนในยุคต่างๆ ที่พิจารณาอากัปกิริยาของพระพุทธองค์ในรูปลักษณะต่างๆ เป็นต้น จึงถือว่า พระพิมพ์ มีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ นอกเหนือจากอำนาจศักดิ์สิทธิ๋ที่เป็นคติความเชื่อของผู้ที่นับถือบูชา