พระพุทธคันธารราฐ

วิถีชีวิตของคนไทย รวมถึงคนท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างมีความผูกพันกับการทำเกษตรกรรม ซึ่งมีชีวิตที่ต้องพึ่งพาฝนฟ้าในการเพาะปลูกมาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงทำให้เกิดคติความเชื่อ พิธีกรรม ประเพณี ที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ และการทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล

 

แต่เดิมความเชื่อและพิธีกรรมเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับอำนาจเหนือธรรมชาติต่างๆ ซึ่งพัฒนาไปสู่สิ่งที่เรียกว่า เทวดา หรือ เทพเจ้าต่างๆ จนกระทั่งพุทธศาสตร์ได้เข้ามาเป็นความเชื่อหลักของสังคม จึงได้นำเอาเรื่องพุทธานุภาพหรือพระคุณของพระพุทธเจ้ามาเป็นที่พึ่งในการบันดาลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ โดยความเชื่อนี้ ได้ปรากฏอยู่ในพระราชพิธีพืชมงคลด้วย

 

พระราชพิธีพืชมงคล เกี่ยวข้องกับคติความเชื่อของทั้งพราหมณ์และพุทธ โดยพิธีที่เกี่ยวข้องกับพระยาแรกนาและนางพระยาเทพี เป็นพิธีพราหมณ์ เรียก พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และพิธีทางพุทธศาสนา เรียก พิธีพืชมงคล ซึ่งมีการเจริญพระพุทธมนต์ และอัญเชิญพระพุทธรูปที่มีความเชื่อเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์มาประดิษฐานในพิธี เพื่อความเป็นสิริมงคล

 

พระพุทธรูปปางที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีพืชมงคลนี้ นิยมเรียก พระพุทธรูปปางขอฝน หรือ ปางสรงฝน แต่ชื่อทางการนั้น คือ พระพุทธรูปปางคันธารราฐ มีลักษณะพระกรขวาอยู่ในท่ากวักพระหัตถ์ ส่วนพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลาในท่าหงาย เหมือนรองรับน้ำฝน สร้างในลักษณะประทับยืนหรือนั่งก็ได้

 

เชื่อว่าน่าจะมีธรรมเนียมการสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยอ้างอิงประกาศการพระราชพิธีพืชมงคลในสมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงมีพระราชดำริว่าในสมัยโบราณได้มีการสร้างพระพุทธรูปคันธารราฐมาก่อนแล้ว ซึ่งแสดงว่ามีธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปลักษณะนี้ก่อนสมัยรัตนโกสินทร์เป็นอย่างน้อย

 

ปัจจุบันนี้ มีพระพุทธรูปปางคันธารราฐที่ประดิษฐานในพระราชพิธีพืชมงคล จำนวน 4 องค์ ได้แก่ พระพุทธคันธารราฐประทับนั่งองค์ใหญ่ สร้างตามแบบศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระเกศมาลาหรือยอดแหลมที่พระเศียรเป็นรูปดอกบัวตูม พระพุทธคันธารราฐแบบจีนมหายาน มีพระหัตถ์ขวาถือช้อน พระหัตถ์ข้างซ้ายถือถ้วยน้ำ ทั้ง 2 องค์นี้สร้างจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 1

 

ยังมีพระคันธารราฐตามพุทธลักษณะแบบพระราชนิยมในรัชกาลที่ 4 คือ พระเกศมาลาไม่เป็น 2 ชั้น พระเศียรกลมเหมือนพระสงฆ์ทั่วไป ครองจีวรตามแบบพระสงฆ์ธรรมนิติกรรม และพระคันธารราฐในสมัยรัชกาลที่ 5 หล่อด้วยทองคำ ปั้นตามแบบศิลปะตะวันตก 

 

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีพระราชดำริให้สร้างพระพุทธคันธารราฐ ประดิษฐานที่วัดพุทไธศวรรย์ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้ชาวไร่ชาวนาได้สักการะเป็นสิริมงคล เนื่องจากบางปะอินเป็นพื้นที่ปลูกข้าวและมีชาวไร่ชาวนาอาศัยอยู่มาก 

 

ปัจจุบัน ธรรมเนียมการสร้างพระพุทธรูปปางคันธารราฐ ยังได้รับความนิยมไปในส่วนภูมิภาคและจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะทางภาคเหนือและภาคอีสาน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกรและต้องพึ่งพาธรรมชาติในการเพาะปลูกอยู่มาก เนื่องจากความเชื่อที่ว่าพระพุทธรูปปางนี้สามารถขอฝนหรือเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ จึงพบสร้างพระพุทธรูปปางคันธารราฐตามวัดในหมู่บ้านต่างๆ อีกด้วย