พระพุทธมณเฑียร

วันที่ออกอากาศ: 30 พฤศจิกายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

หมู่พระพุทธมณเฑียร เป็นหมู่อาคารพระที่นั่งที่สร้างขึ้นพร้อมๆ กับหมู่พระอภิเนานิเวศน์ทางด้านทิศตะวันออกของพระบรมมหาราชวังในช่วงต้นรัชกาลที่ 4 ปัจจุบันยังคงเหลืออาคารอยู่ 2 หลัง ซึ่งเป็นอาคารสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่ได้รับมีการรื้อถอนอาคารในหมู่พระอภิเนานิเวศน์หมดสิ้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับหมู่พระพุทธมณเฑียรค่อนข้างจะมีน้อยเมื่อเทียบกับหมู่พระอภิเนานิเวศน์ ซึ่งมีทั้งข้อมูลเอกสารและภาพถ่ายจำนวนมากในสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงต้นรัชกาลที่ 5

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธนิเวศน์หรือพระพุทธมณเฑียรส่วนหนึ่งได้มาจากพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 4 ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุญนาค) ได้อธิบายมูลเหตุของการโปรดเกล้าให้สร้างหมู่อาคารดังกล่าวในพื้นที่ซึ่งเดิมเป็นสวนขวาในสมัยรัชกาลที่ 1 แล้วมาสร้างตกแต่งครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 2 อย่างวิจิตรงดงาม โดยสร้างพระที่นั่งแฟดแบบไทยประเพณีทรงโบสถ์วิหารติดกัน 3 หลัง คล้ายกับพระที่นั่งจักรพรรดิ์พิมานในหมู่พระมหามณเฑียร

 

ครั้นมาถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้ปรับปรุงพื้นที่ในบริเวณนี้เสียใหม่ ซึ่งโปรดให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างเดิมหลายอาคาร แต่ทรงละพระที่นั่ง 3 องค์นี้ไว้ โปรดให้แก้ไขลวดลายบนผนังจากเดิมเขียนลายทองบนพื้นชาดสีแดงเป็นลายทองลายรดน้ำ รวมทั้งเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระปฐมสมโภชน์และพุทธประวัติซึ่งทรงค้นคว้าจากคัมภีร์พระสูตรต่างๆ

 

ในพระที่นั่งองค์กลางโปรดเกล้าให้ประดิษฐานพระเจดีย์ทองเหลืองซึ่งทรงกะไหล่ทองคำทั้งองค์ ฐานกว้าง 3 ศอก สูง 7 ศอก สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ทั้งยังโปรดให้สร้างเครื่องตกแต่งต่างๆ เป็นเครื่องบูชาไว้อย่างวิจิตรพิสดาร พระราชทานนามใหม่ให้เรียกว่า พระพุทธมณเฑียร หรือ พระพุทธนิเวศน์ เพื่ออุทิศให้เป็นพระมณเฑียรสำหรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถ

 

ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่ง 3 องค์นี้ซึ่งหันไปทางพระมหามณเฑียร โปรดเกล้าให้สร้างปราสาทหลังน้อยองค์หนึ่งชื่อ พระที่นั่งมหิศรปราสาท หน้าบันของมุกทั้ง 4 ด้านจำหลักไม้เป็นภาพพญาช้างเผือกยืนโรงหันหลังชนกัน 4 เชือก ซึ่งเป็นตราพระบรมราชสัญลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระที่นั่งองค์นี้ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปและคัมภีร์พระไตรปิฏก

 

ทางด้านตะวันออกโปรดเกล้าให้สร้างเป็นพระอุโบสถประจำพระพุทธนิเวศน์ กรุผนังภายนอกด้วยหินอ่อนสีเทา เป็นพระอุโบสถขนาดเล็กเรียกว่า พระพุทธรัตนสถาน สำหรับประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์จักรพรรดิ์พิมนมณีมัย หรือ พระแก้วขาว เป็นพระแก้วประจำรัชกาลที่ 2  ซึ่งทรงอัญเชิญจากนครจำปาศักดิ์

 

จากนั้นทรงสร้างอาคารที่เป็นองค์ประกอบของโบสถ์วิหารจำนวนมากในบริเวณพระพุทธรัตนสถาน อาทิ หอระฆัง ศาลาราย เครื่องตกแต่งบูชาต่างๆ ขณะเดียวกันก็สร้างกำแพงแก้วล้อมอาณาบริเวณหมู่พระพุทธมณเฑียร ซึ่งถือเป็นพระอารามอีกแห่งหนึ่งในพระบรมมหาราชวัง

 

ภายหลังได้ใช้เป็นที่จำพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงพระผนวชเป็นสามเณร ตั้งแต่สมัยยังเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ และอีกครั้งทรงพระผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อเจริญพระชนม์มายุ 21 พรรษา ซึ่งเป็นช่วงภายหลังจากทรงรับพระราชสมบัติแล้ว

ภายหลังจำเป็นต้องรื้อถอนหมู่พระพุทธมณเฑียรเช่นเดียวกับหมู่พระอภิเนานิเวศน์ เนื่องจากวัสดุต่างๆ ที่ใช้ก่อสร้างเสื่อมสภาพอย่างรวดเร็ว แต่มีพระราชดำริให้เก็บอาคารไว้ 2 หลัง ได้แก่ พระที่นั่งมหิศรปราสาท และพระพุทธรัตนสถาน ทั้งตัวพระอุโบสถ ศาลาราย และหอระฆัง ปัจจุบันพระอุโบสถตั้งอยู่ในสนามหญ้าของสวนศิวาลัย ส่วนพระที่นั่งมหิศรปราสาทตั้งอยู่บนกำแพงสูงซึ่งกั้นระหว่างสวนศิวาลัยกับเขตพระราชฐานชั้นในด้านพระมหามณเฑียร