พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช

วันที่ออกอากาศ: 30 มีนาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

พระราชพิธีบรวงสรวงพระสยามเทวาธิราช เป็นพระราชพิธีประจำปีของราชสำนักไทยในปัจจุบัน มีกำหนดการประกอบพิธีกรรมในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินไทย ตามคติความเชื่อของสังคมไทยที่เกี่ยวข้องพุทธศาสนาแบบเถรวาท

 

มักนิยมทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระเนื่องในวันปีใหม่ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณของบรรพบุรุษ รวมถึงการบูชาเซ่นสรวงเทพยดาอารักษ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ สำหรับพระสยามเทวาธิราชนั้น ถือเป็นเทพยดาในลักษณะเทพารักษ์ ซึ่งมีหน้าที่ปกปักรักษาคุ้มครองประเทศ 

 

การบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช เป็นธรรมเนียมที่เพิ่งปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 4 เนื่องมาจากพระราชดำริว่าสยามประเทศดำรงความเป็นเอกราชดำรงความผาสุขยั่งยืนมาตั้งแต่โบราณ แม้หลายครั้งหลายคราวจะมีเหตุที่ทำให้บ้านเมืองเพลี่ยงพล้ำข้าศึกศัตรูหรือมีเหตุจะเสียบ้านเสียเมืองแต่ก็รอดพ้นมาได้ทุกครั้ง ก็น่าจะมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือเทพยดาอารักษ์คุ้มครองให้รอดพ้นภัยอันตรายมาได้ทุกครั้ง

 

จึงโปรดเกล้าให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรกานต์ซึ่งนายช่างประติมากรรม  ปั้นหุ่นเทพยดาทรงมงกุฏและเครื่องต้นแบบกษัตริย์ พระหัตถ์ขวาถือพระขันธ์ พระหัตซ้ายจีบนิ้วมือยกพระหัตถ์เสมอพระอุระ สูงประมาณ 1 ฟุต แล้วหล่อด้วยทองคำทั้งองค์ มีการทำฐานและซุ้มด้วยไม้จันทน์แกะสลักด้วยลวดลายศิลปกรรมจีน  จารึกอักษรจีนที่ฐานมีคำแปลว่าที่สถิตแห่งองค์พระสยามเทวาธิราช แล้วทรงกำหนดวันบวงสรวงในวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ช่วงเทศกาลตรุษของพระราชพิธี

 

ต่อมาจึงได้กลายเป็นราชประเพณีสำหรับพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงถวายเครื่องบรวงสรวงสักการะและอธิษฐานเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติบ้านเมือง อันเป็นสัญลักษณ์แสดงถึง จุดศูนย์รวมทางจิตใจและจิตวิญญาณของประเทศชาติ

 

ปัจจุบัน พระราชพิธีบรวงสรวงพระสยามเทวธิราชจัดขึ้นในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือผู้แทนพระองค์ซึ่งเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายใน ทรงประกอบพิธีจุดธูปเทียนถวายเครื่องบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช จากนั้นเป็นการแสดงละครบวงสรวงของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ซึ่งจัดการแสดงทั้งละครใน ละครนอก ละครพันทาง สลับเปลี่ยนกันไปในแต่ละปี

 

นอกจากนี้ยังเป็นพระราชพิธีที่บุคลากรในเขตพระราชฐานชั้นในได้มีโอกาสมาชุมนุมรวมตัวกัน มีการจัดงานฝีมือต่างๆ ดอกไม้ประดิษฐ์ ดอกไม้สด รวมถึงอาหารและขนมแบบชาววัง ถือเป็นงานพระราชพิธีประจำปีที่สร้างความคึกครื้นให้กับเขตพระราชฐานชั้นใน 

 

โดยปกติแล้ว พระราชสำนักไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปถวายสักการะพระสยามเทวาธิราช เนื่องจากถือเป็นปูชนียวัตถุสำหรับองค์พระมหากษัตริย์ แต่เมื่อครั้งงานฉลองสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี หลังจากมีพระราชพิธีบรวงสรวงพระสยามเทวาธิราช ทรงโปรดเกล้าฯให้เจ้าพนักงานอันเชิญเทวรูปพระสยามเทวาธิราชมาประดิษฐานบนบุษบกมุขเด็ดที่ด้านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงพระราชทานราชานุญาตให้ประชาชนร่วมถวายสักการะพระสยามเทวาธิราช ครั้งนั้นมีการประดิษฐานไว้นานถึงหนึ่งเดือน เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากมากราบไหว้ด้วยความเคารพศรัทธา

 

ในปัจจุบันมีการจัดสร้างพระสยามเทวธิราชองค์จำลองไว้หลายองค์ บางองค์มีการขยายสัดส่วนใหญ่โตกว่าเทวรูปองค์จริง ประดิษฐานไว้ตามสถานที่ต่างๆ แม้กระทั่งจังหวัดตามแนวชายแดนก็มีการประดิษฐานพระสยามเทวธิราชจำลองไว้สำหรับถวายสักการะ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับทหาร ตำรวจตระเวนชายแดน และประชาชนในพื้นที่