ภูมิปัญญาเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวและการทำนาของคนไทย

วันที่ออกอากาศ: 27 พฤษภาคม 2555
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

จากหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆ มีข้อสันนิษฐานว่าทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าเป็นภูมิภาคแรกในโลกที่ปลูกข้าวเพื่อยังชีพ บรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ในดินแดนแถบนี้ได้สร้างและสั่งสมภูมิปัญญาการปลูกข้าวมาอย่างยาวนาน ซึ่งต่อมาได้ถ่ายทอดมรดกทางภูมิปัญญาเหล่านี้มาสู่ชนรุ่นหลัง โดยคนโบราณที่อาศัยในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันก็ได้รับเอาภูมิปัญญาการปลูกข้าวมาด้วยเช่นกัน

 

ในหลักฐานเกี่ยวกับการปลูกข้าวเก่าที่สุดในประเทศไทยเป็นร่องรอยแกลบข้าวเหนียวบริเวณภาคเหนือและอีสาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้คนในบริเวณนี้รู้จักและนิยมปลูกพันธุ์ข้าวเหนียว ก่อนที่จะหันมานิยมปลูกข้าวเจ้าในช่วงเวลาต่อมา ภูมิปัญญาในการปลูกข้าวที่คนโบราณได้รับมรดกมาแล้วสืบทอดมายังคนรุ่นปัจจุบัน สามารถจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้

 

ภูมิปัญญาการจัดการพื้นที่นา คนไทยมีภูมิปัญญาในการจัดแบ่งประเภทของที่นาตามลักษณะของภูมิประเทศต่างๆ อาทิ นาฟางลอย นาพูกโค นาปรัง นาปี นาน้ำตม นาดำ นาสวน นาไร่ ซึ่งจะมีวิธีการปลูกและการเตรียมพื้นที่แตกต่างกันไป จึงทำให้ชาวนาไทยสามารถปลูกข้าวที่เป็นอาหารหลักได้ในทุกสภาพภูมิประเทศที่มีอยู่ในดินแดนไทย ทั้งบนภูเขา ที่ราบสูง ที่ดอน พื้นที่ลุ่ม แม้แต่พื้นที่ที่น้ำท่วมอยู่ทิตลอดเวลาหรือบริเวณที่เป็นน้ำกร่อย 

 

ภูมิปัญญาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เนื่องจากน้ำมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปลูกข้าว ซึ่งจะต้องเตรียมน้ำให้เพียงพอสำหรับการปลูกข้าวหรือหล่อเลี้ยงต้นข้าวไว้ คนไทยตั้งแต่ยุคโบราณก็มีภูมิปัญญาในการชักน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติทั้งบนที่สูงและในที่ราบเข้ามาสู่ที่นา แม้แต่การทำนาบนภูเขาในลักษณะนาขั้นบันไดก็ยังสามารถแสวงหาแหล่งน้ำจากบนภูเขา เช่น ตาน้ำ ห้วย ลำธารต่างๆ มาใช้หล่อเลี้ยงพื้นที่นา นอกจากนี้ การทำคลองส่งน้ำ คัน คู ระหัดวิดน้ำ เพื่อชักน้ำและส่งน้ำเข้ามาสู่ที่นาก็เป็นภูมิปัญญาอีกลักษณะหนึ่ง  

 

ภูมิปัญญาในเรื่องพันธุ์ข้าว ชาวนาไทยตั้งแต่สมัยโบราณมีภูมิปัญญาในการคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการเพาะปลูกในแต่ละสภาพพื้นที่ ภูมิประเทศ ภูมิอากาศและปริมาณน้ำ อาทิ การใช้พันธุ์ข้าวที่มีลำต้นสูงมาปลูกในพื้นที่น้ำท่วม การใช้พันธุ์ข้าวที่ต้องการน้ำน้อยมาปลูกในนาไร่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังรู้จักผสมพันธุ์ข้าวให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีคุณภาพดีขึ้น ทนทานต่อโรคและศัตรูพืช หรือให้ปริมาณผลผลิตสูงขึ้น

 

ปัจจุบันกรมการข้าวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถรวบรวมรายชื่อพันธุ์ข้าวที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยในภูมิภาคต่างๆ ได้นับร้อยสายพันธุ์ อาทิ พันธุ์ข้าวขาวอย่างขาวตาแห้ง ขาวน้ำค้าง ขาวบุญมา ขาวเศรษฐี พันธุ์ข้าวหอมอย่างหอมมะลิ หอมไชยา พันธุ์ข้าวท้องถิ่นอย่างข้าวเขี้ยวงูในภาคเหนือและอีสาน ข้างสังหยดในภาคใต้ เป็นต้น

 

ภูมิปัญญาเรื่องวิธีการปลูกข้าว ภูมิปัญญานี้ครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมพื้นที่จนถึงการเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีการมากมาย เช่น รู้จักการไถในหลายๆ แบบตั้งแต่การไถดะ ไถรี ไถขวาง หรือไถกลบ วิธีการหว่านเมล็ดพืช สำหรับข้าวบางชนิดต้องทำแปลงตกกล้าก่อนแล้วจึงนำต้นกล้าไปปักดำ วิธีการรักษาดูแลเมื่อข้าวออกรวง  รู้จักวิธีจัดการกับศัตรูพืชและโรคพืชชนิดต่างๆ ตลอดจนการจัดหาและผลิตเครื่องมือเครื่องใช้ที่เพิ่มประสิทธิภพในการทำนา อาทิ คันไถ เคียว เป็นต้น

 

นอกจากนี้แล้ว คนโบราณยังมีภูมิปัญญาในการนำพิธีกรรมความเชื่อมาประกอบการทำนา เพื่อใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ อันเนื่องมาจากสภาพการดำรงชีวิตที่ต้องพึ่งพาฟ้าฝนในการเพาะปลูกข้าว ซึ่งเป็นปัจจัยเหนือการควบคุม จึงได้ประกอบพิธีกรรมในทุกๆ ขั้นตอนของการปลูกข้าว อาทิ พิธีแรกนาขวัญในช่วงการเตรียมที่นา พิธีทำขวัญข้าวในช่วงข้าวออกร่วง พิธีลาซางในช่วงหลังการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ เพื่อความสบายใจว่าจะสามารถได้ผลผลิตเพียงพอในแต่ละปี