รัชกาลที่ 2 กับจังหวัดปทุมธานี

ความรักและความอาทรที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ต่อพสกนิกรนั้น ไม่ได้ทรงมีแต่เฉพาะชาวไทยซึ่งเป็นราษฎรในขอบขันทสีมาเท่านั้น ยังทรงแสดงความอาทรต่อกลุ่มคนต่างชาติพันธุ์ซึ่งอพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมพาร

 

โดยเฉพาะครอบครัวชาวมอญกว่า 40,000 คน ที่อพยพมาตั้งรกรากในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง บริเวณจังหวัดปทุมธานี เกาะเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จนในที่สุดได้กลายเป็นราษฎรไทยภายใต้พระบารมีและเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและสังคมไทยสืบต่อมา

 

ในช่วงต้นรัชกาลที่ 2 ประมาณปีพุทธศักราช 2358 มีการอพยพของครอบครัวชาวมอญจากเมืองเมาะตะมะทางตอนใต้ของพม่า ซึ่งเป็นอาณาบริเวณของชุมชนชาวมอญ เนื่องจากการคุกคามจากกองทัพพม่าในราชวงศ์คองบอง ทำให้ สมิงรามัญ ผู้นำชุมชนของเมืองเมาะตะมะนำชาวเมืองกว่า 40,000 คนหนีอพยพเข้ามาในดินแดนสยาม

 

รัชกาลที่ 2 ทรงยินดีต้อนรับเนื่องจากเป็นการเพิ่มกำลังคนหรือแรงงานซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ จึงโปรดเกล้าฯให้จัดกองทัพจากกรุงเทพฯ ไปรับครัวมอญที่ด่านพระเจดีย์สามองค์ และมีพระราชดำริให้ครัวมอญไปอาศัยอยู่ที่ สามโคก หรือบริเวณจังหวัดปทุมธานีในปัจจุบัน ซึ่งมีชุมชนมอญอาศัยอยู่สืบมาตั้งแต่สมัยอยุธยา รวมถึงบริเวณเกาะเกร็ด และพระประแดงในปัจจุบัน ภายหลังทรงยกเมืองสามโคกขึ้นเป็นเมืองชั้นตรีเนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

 

ตามบันทึกไว้ที่พระราชพงศาวดาร ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ชุมชนมอญอพยพเป็นอย่างยิ่ง กล่าวว่าในเดือน 11 ของปีนั้น พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการจัดสรรที่ตั้งชุมชนมอญ ทรงสร้างพลับพลาและประทับแรมที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกเยื้องกับเมืองสามโคก บริเวณวัดปทุมทองซึ่งอยู่ในตัวอำเภอเมืองปทุมธานีในปัจจุบัน

 

โปรดเกล้าให้ผู้แทนชุมชนพาครัวเรือนมอญมาเข้าเฝ้า โดยชาวชุมชนได้ทูลถวายดอกบัวที่เก็บมาจากท้องทุ่งในเมืองสามโคก ซึ่งเต็มไปด้วยดอกบัวชนิดต่างๆ บานสะพรั่งในช่วงฤดูน้ำหลาก ด้วยเหตุนี้ ภายหลังจึงได้พระราชทานชื่อใหม่ให้แก่เมืองสามโคกเมื่อครั้งทรงยกขึ้นเป็นหัวเมืองชั้นตรีแล้วว่า เมืองประทุมธานี ดังปรากฎความอยู่ในนิราศภูเขาทองของสุนทรภู่

 

ถึงสามโคกโศกถวิลถึงปิ่นเกล้า

พระพุทธเจ้าหลวงบำรุงซึ่งกรุงศรี
ประทานนามสามโคกเป็นเมืองตรี

ชื่อประทุมธานีเพราะมีบัว

 

ทรงมีพระบรมราชโองการยกสามโคกขึ้นเป็นเมืองตรี ชื่อเมืองประทุมธานี เป็นทางการเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ปีพุทธศักราช 2358 ปัจจุบันจังหวัดปทุมธานีจึงถือว่าวันนี้เป็นวันเฉลิมฉลองการสถาปนาจังหวัด ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6-7 ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารส่วนจังหวัด จึงเปลี่ยนสถานะของเมืองประทุมธานีเป็นจังหวัด โดยเขียนคำว่า ประทุมธานี แบบกร่อนเสียง กลายเป็น ปทุมธานี แทน

 

จึงเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ความเอาพระราชหฤทัยใส่ ตลอดจนความเอื้ออาทรต่อชุมชนชาวมอญที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในบริเวณจังหวัดปทุมธานี ทรงรับเข้ามาเป็นราษฎรในภายใต้พระบารมีในขอบขันธสีมาของพระองค์และทรงดูแลความเป็นอยู่ของราษฏรกลุ่มนี้เป็นอย่างดี

 

ชาวมอญก็มีความสัมพันธ์ที่ดีและมีไมตรีจิตต่อคนไทยมาโดยตลอด ไม่มีเรื่องขัดแย้ง คุกคาม หรือเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ซึ่งคนไทยและคนมอญต่างก็มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมของการนับถือพุทธศาสนาร่วมกัน อีกทั้งวัฒนธรรมมอญโบราณก็เป็นหนึ่งในรากฐานสำคัญของวัฒนธรรมไทยมาตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย จึงทำให้คน 2 กลุ่มชาติพันธุ์มีความกลมกลืนประสานวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตร่วมกันได้เป็นอย่างดี