ราวเทียนในงานประณีตศิลป์

วันที่ออกอากาศ: 20 กรกฎาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ในการประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาของสังคมไทยตั้งแต่สมัยโบราณ เทียนเป็นวัตถุพิธีอย่างหนึ่งที่มีความสำคัญนำมาใช้จุดบูชาร่วมกับธูป เทียนที่จุดแล้วให้แสงสว่าง หมายถึง ประทีป ถือเป็นเครื่องอามิสบูชาอย่างหนึ่งในการบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งเป็นสิ่งเคารพสูงสุดในพระพุทธศาสนา คนไทยจึงมีภูมิปัญญาในการหล่อเทียนด้วยวัสดุต่างๆ เพื่อใช้ในสังคมมาช้านานแล้ว

 

รวมถึงรู้จักประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับรองหรือตั้งเทียนไว้ใช้ด้วย โดยมักปรากฎอยู่ตามศาสนสถานโดยเฉพาะในโบสถ์และวิหารตามวัดต่างๆ นิยมเรียกกันว่า ราวเทียน มีลักษณะเป็นคานยาวยึดด้วยเสา 2 ข้าง ทำจากไม้หรือเหล็กก็ได้ อาจทำเหล็กแหลมเหมือนตะปูบนราวเพื่อความสะดวกในการปักเทียน ส่วนรูปแบบของราวเทียนนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของประเทศ

 

ในภาคกลาง ราวเทียนถือเป็นงานประณีตศิลป์อย่างหนึ่ง ปรากฏอยู่ในพระอารามหลวงสำคัญๆ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นราวเทียนที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าให้สร้างสำหรับปักเทียนในงานพระราชพิธีต่างๆ อาทิ ราวเทียนรอบฐานชุกชีพระพุทธรัตนมหามณีปฏิมากร ราวเทียนรอบฐานชุกชีพระศรีศากยมุนีในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ซึ่งสร้างในรูปแบบของภาคกลางที่ดูเรียบๆ แต่มีความประณีตงดงาม หล่อรูปดอกบัวบานประดับเรียงรายบนราวเทียน กลางดอกบัวมีเหล็กแหลมขึ้นมาสำหรับปักเทียน

 

กลุ่มคนไทยที่มีเชื้อสายไทยลาวในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีวัฒนธรรมการประดิษฐ์ประดอยราวเทียนให้มีความซับซ้อนงดงามจนเป็นเอกลักษณ์ ราวเทียนในวัฒธรรมไทยล้านนาและไทยล้านช้างมีชื่อเรียกเฉพาะว่า สัตตภัณฑ์ หรือ สัตตบริภัณฑ์  หมายถึงภูเขาทั้ง 7 ที่ตั้งอยู่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุตามคติไตรภูมิของพุทธศาสนา ซึ่งนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์รูปแบบของราวเทียน โดยมีเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลางและมีทิวเขาสัตตบริภัณฑ์ลดหลั่นลงไปเป็นรูปสามเหลี่ยม บนยอดเขาทำหลักแหลมไว้สำหรับปักเทียน ตัวราวเทียนเป็นไม้แกะสลักวิจิตรงดงาม ถือเป็นงานศิลปะที่นำมาประกวดประขันกันเป็นหน้าเป็นตาของวัด

 

ปัจจุบันสามารถหาชมสัตตภัณฑ์ที่ทำด้วยความประณีตงดงามได้ตามวัดโบราณในภาคเหนือ อาทิ วัดประจำเมือง วัดพระธาตุต่างๆ มักสร้างสัตตภัณฑ์ประดิษฐานไว้ในวิหารหน้าพระธาตุ ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าชุกชีหรือฐานพุทธบัลลังก์ขององค์พระประธาน 

 

สำหรับราวเทียนในวัดระดับท้องถิ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า ฮาวใต้เทียน หรือ ฮาวเทียนใต้ ซึ่งคำว่า เทียนใต้ หมายถึงเทียนสำหรับจุดบูชาพระ นอกจากราวเทียนในลักษณะเขาพระสุเมรุจำลองแล้ว ยังนิยมทำราวเทียนเป็นรูปพญานาค โดยแกะสลักไม้เป็นลำตัวพญานาค มีเสา 2 ข้างยึดส่วนหัวและหางพญานาค แล้วทำที่สำหรับปักเทียนไว้บนลำตัว ซึ่งเป็นงานฝีมือของช่างท้องถิ่นที่ปัจจุบันยังหาชมได้ตามวัดต่างๆ ในภาคอีสาน

 

ในปัจจุบัน แม้ราวเทียนในฐานะงานประณีตศิลป์ได้ลดบทบาทและความสำคัญลงไป มีการนำเชิงเทียนสำเร็จรูปที่ผลิตในรูปแบบคล้ายๆ กันมาใช้แทน แต่ในภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคเหนือก็คงรักษาธรรมเนียมการสร้างสัตตภัณฑ์หรือราวเทียนรูปเขาพระสุเมรุถวายไว้หน้าองค์พระประธาน โดยเฉพาะในโอกาสที่มีการสร้างวัด พระอุโบสถ หรือพระวิหารขึ้นใหม่ สัตตภัณฑ์จึงยังถือเป็นงานประณีตศิลป์ที่สร้างขึ้นตามความศรัทธาในพระพุทธศานา ซึ่งผู้มีจิตศรัทธาถวายไว้เป็นพุทธบูชา