ลอยกระทงวิถีไทย

วันที่ออกอากาศ: 17 พฤศจิกายน 2556
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ประเพณีลอยกระทง ถือเป็นพิธีบูชาตามคติความเชื่อของสังคมไทย ซึ่งเป็นคติความเชื่อทั้งทางพุทธศาสนาและทางพราหมณ์ ตามคติพราหมณ์ คนไทยลอยกระทงเพื่อขอคมาต่อแม่พระคงคา ซึ่งเป็นเทพแห่งน้ำของศาสนาพราหมณ์ เป็นการแสดงออกถึงความเคารพ ความกตัญญูต่อตัวแทนของแหล่งน้ำทั้งหลายที่มนุษย์ใช้อุปโภคบริโภค แล้วได้ระบายสิ่งปฏิกูลสกปรกลงไป ซึ่งสังคมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสังคมเพาะปลูกที่มีความผูกพันกับแหล่งน้ำมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ น้ำจึงมีความสำคัญและมีคุณูปการต่อชีวิต

 

สำหรับคติทางพุทธศาสนา การลอยกระทงเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งตามคำภีร์ทางพุทธศาสนาระบุว่าพระพุทธองค์ทรงประทับรอยพระบาทอยู่ 2 แห่ง คือ ฝั่งแม่น้ำนัมมทาในชมพูทวีป และพิภพของนาคซึ่งอยู่ใต้น้ำลงไป การบูชารอยพระพุทธบาททั้ง 2 แห่งจึงจำเป็นต้องมีเครื่องสักการะเพื่อลอยถวายบูชาในแหล่งน้ำ

 

นอกจากสังคมไทยแล้ว ในพม่าหรือล้านนาก็เชื่อว่าการลอยกระทงหรือลอยประทีปเป็นการบูชาพระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อพระอุปคุตต์ซึ่งมีที่จำพรรษาอยู่ที่สะดือของทะเล    

 

ในสังคมไทยประเพณีลอยกระทงยังเป็นเทศกาลที่เรียกว่าการนักขัตฤกษ์ เป็นการพักผ่อนเฉลิมฉลองหลังจากเสร็จสิ้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนสิบสอง ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นฤดูน้ำหลากทำให้มีน้ำนองเต็มตลิ่ง เป็นน้ำที่นิ่งและเริ่มตกตะกอนใส พระจันทร์ขึ้นสวย และมีอากาศดี

 

นอกจากพิธีกรรมทางความเชื่อแล้ว ประเพณีลอยกระทงจึงเป็นเรื่องของความบันเทิงอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีวิวัฒนาการเรื่อยมานับตั้งแต่ในสมัยอดีต อาทิ การเล่นดนตรีและเพลงพื้นบ้าน การจุดไฟตะเกียงหรือดอกไม้ไฟ  จนมาถึงกาลสมัยปัจจุบัน งานลอยกระทงยังประกอบด้วยกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ประกวดนางนพมาศ ประกวดกระทง หรือการประกวดแปลกๆ ที่เน้นความสนุกสนานของผู้ร่วมงาน

 

การลอยกระทงในลักษณะชุมนุมผู้คนเป็นนักขัตฤกษ์ เป็นราชประเพณีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา  พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ และข้าราชบริพารในพระราชสำนักจะเสด็จลอยพระประทีปที่ตำหนักแพ แต่มีนักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งเชื่อว่าการลอยกระทงเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยโดยอ้างอิงจากจารึกหลักที่ 1 ที่ระบุถึงการเผาเทียนเล่นไฟ แต่ก็มิได้กล่าวถึงการลอยกระทงอย่างชัดเจน 

 

สำหรับงานลอยกระทงของชาวบ้านที่เป็นงานนักขัตฤกษ์ใหญ่ สันนิษฐานว่ามีขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 50-60 ปี อย่างเช่นการประกวดนางนพมาศเกิดขึ้นครั้งแรกในยุครัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นยุครัฐนิยมซึ่งพยายามเสริมสร้างวัฒนธรรมอันดีของไทย โดยใช้สถานที่ของวัดซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ริมน้ำเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากวัดเป็นศูนย์กลางของสังคมอยู่

 

การประกวดนางงามลักษณะนี้ถือเป็นค่านิยมใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยสมัยนั้น จนกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับเทศกาลลอยกระทง ซึ่งยังคงสืบสานมาจนถึงปัจจุบัน    

 

ปัจจุบัน งานลอยกระทงถือประเพณีนิยมในสังคมไทยที่จัดขึ้นอย่างเอิกเกริกตามแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งงานประเพณีที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมตามคติความเชื่อ และงานมหรสพต่างๆ เพื่อความสนุกสนานและสร้างความบันเทิงแก่ผู้มาร่วมงาน ประเพณีลอยกระทงได้กลายเป็นงานเทศกาลสำคัญเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดต่างๆ อย่างกว้างขวาง