วัฒนธรรมดอกไม้

วันที่ออกอากาศ: 25 พฤษภาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

ดอกไม้ มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทยอย่างมาก วัฒนธรรมการนำดอกไม้ชนิดต่างๆ มาใช้ประกอบอาหาร การนำดอกไม้จากธรรมชาติมาประดิษฐ์ถักร้อยเป็นเครื่องตกแต่งต่างๆ รวมถึงบทบาทของดอกไม้ในฐานะแม่แบบของลวดลายที่ปรากฏในงานศิลปกรรมและงานประณีตศิลป์ของไทย

 

วัฒนธรรมดอกไม้ในสังคมไทยยังมีความเกี่ยวข้องกับคติความเชื่อและพิธีกรรมทางศาสนาของผู้คนมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนาซึ่งประชากรส่วนใหญ่ในสังคมไทยให้ความเคารพนับถือ 

 

ในพระพุทธศาสนา มีคติเกี่ยวข้องกับดอกไม้ปรากฎอยู่ในพระสูตรต่างๆ โดยยกย่องให้ดอกไม้นานาพรรณเป็นของสูงควรค่าแก่การนำมาบูชาสมเด็จพระสัมมสัมพุทธเจ้า พระอรหัตถ์ และพระสาวก รวมถึงการบูชาพระสัตย์ธรรมที่เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ ดังนั้นดอกไม้จึงอยู่ในฐานะวัตถุบูชาทางพระพุทธศาสนาตามคติความเชื่อของคนไทยมาตั้งแต่โบราณ แม้ก่อนยุคที่พุทธศาสนาและศาสนาพราหมณ์ฮินดูจะเข้ามามีอิทธิพลในสังคม วัฒนธรรมการใช้ดอกไม้เป็นเครื่องสักการะเซ่นสรวงวิญญาณหรือพลังอำนาจเหนือธรรมชาติต่างๆ ก็ดำรงมาอยู่ก่อนแล้ว 

 

ในพระพุทธประวัติและพระสูตรต่างๆ ในพระไตรปิฎก ได้กล่าวถึงพันธุ์ดอกไม้ที่ค่าควรแก่การนำมาถวายบูชา ได้แก่ ดอกบัว ถือเป็นดอกไม้สำคัญเป็นอันดับแรก ปรากฏอยู่ในคติและพระสูตรต่างๆ มากมาย อาทิ คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงแบ่งจำพวกของคนออกเป็นบัว 4 เหล่า เป็นการเปรียบเทียบพระสัตย์ธรรมของพระพุทธเจ้ากับดอกบัว

 

ในคติพระพุทธศาสนามหายาน พระโพธิสัตว์หลายองค์ทรงถือดอกบัวอยู่ในพระหัตถ์ ในทางประติมานวิทยาถือว่ามีความสำคัญในเชิงปรัชญาด้วย

 

ในงานพุทธศิลป์ตามคติพระพุทธศาสนาเถรวาทก็นำดอกบัวมาใช้เป็นสัญลักษณ์สำคัญๆ หลายอย่าง อย่างเช่นพุทธอาสน์ที่ประทับของพระพุทธเจ้าก็ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปดอกบัว ผู้คนจึงนิยมใช้ดอกบัวในการบูชาพระพุทธศาสนา ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้หลายพันธุ์หลายสี ทั้งบัวหลวง บัวสาย บัวสตบงกฎ ทั้งสีขาวและสีชมพู

 

ดอกมะลิ เป็นดอกไม้อีกชนิดที่ปรากฎอยู่ในพระพุทธประวัติ อาทิเรื่องของนายสุมนมาลาการ ผู้ดูแลสวนดอกไม้ของพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งนครราชคฤห์ ซึ่งทรงปวารณาตัวเป็นพุทธมามกะคนแรก นายสุมนมาลาการมีหน้าที่เก็บดอกมะลิในพระราชอุทธยานส่งขึ้นถวายพระเจ้าพิมพิสารเป็นประจำทุกวัน

 

แต่วันหนึ่งบังเอิญเห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาทผ่านมา ก็มีปิติศรัทธานำดอกมะลินั้นไปถวายเป็นพุทธบูชา แทนที่พระเจ้าพิมพิสารจะทรงกริ้วกลับอนุโมทนาและพระราชทานบำเหน็จความชอบแก่นายสุมนมาลาการผู้นี้ ดอกมะลิที่มีสีขาวและมีความหอมจึงกลายเป็นดอกไม้อีกชนิดสำหรับใช้ในพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา

 

ในวัฒนธรรมไทยสามารถนำดอกมะลิมาใช้บูชาพระได้หลายรูปแบบ ปักแจกันใส่พานตั้งบูชา หรือนำมาร้อยเป็นพวงมาลัย ทั้งมาลัยกลม มาลัยซีก และมาลัยตุ้ม ในพระราชพิธีของราชสำนักพบว่ามีการใช้ดอกมะลิเป็นสัญลักษณ์ในการพระราชกุศลมาฆบูชา ในพระราชพิธีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จะทรงประทับบนธรรมาสน์เทศน์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และทรงโปรยดอกมะลิจำนวน 1,250 ดอก เป็นการบูชาพระอรหัตถ์ตามจำนวนที่กล่าวถึงในตำนานวันมาฆบูชา

 

นอกจากดอกบัวและดอกมะลิแล้ว ดอกไม้หอมสีขาวที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับมะลิ เช่น ดอกพุทธ ดอกเขี้ยวกระแต ดอกราตรี ดอกโมก ดอกแก้ว รวมถึงดอกไม้หอมชนิดอื่นๆ อย่างเช่นดอกกุหลาบที่มีสีสันสวยงาม ในวัฒนธรรมไทยก็นิยมนำมาใช้เป็นเครื่องบูชาได้เช่นกัน