วัดทองบางพลัด วัดบางยี่ขัน

วันที่ออกอากาศ: 23 มีนาคม 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วัดทอง ย่านเขตบางพลัด เป็นวัดอีกแห่งที่ตั้งอยู่ในเรือกสวนฝั่งธนบุรี จากลักษณะสถาปัตยกรรมต่างๆ ภายในวัดสะท้อนให้เห็นว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย

 

มีพระอุโบสถเก่าแก่สร้างพาลัยอยู่ด้านหน้าเหนือประตู ซึ่งเป็นทางเข้าออกเพียงทางเดียว ด้านหลังเป็นผนังทึบ มักเรียกพระอุโบสถแบบนี้ว่า โบสถ์มหาอุด เชื่อกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาว่าเหมาะสำหรับการประกอบพิธีกรรมปลุกเสกวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังต่างๆ เนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์หรือความอาถรรพ์ทั้งหลายไม่สามารถออกไปทางประตูหลังได้

 

ปัจจุบันพระอุโบสถหลังนี้ได้กลายเป็นวิหารของวัด ส่วนอุโบสถหลังปัจจุบันสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ แต่ลักษณะของซุ้มเสมาที่อยู่รอบๆ เป็นเสมานั่งแท่น ซึ่งเป็นศิลปะในสมัยอยุธยา

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถได้รับการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องพุทธประวัติตามขนบของศิลปะจิตรกรรมสมัยรัชกาลที่ 4 ยังมีภาพผู้คนแต่งกายเป็นฝรั่ง ภาพตึกฝรั่ง จึงเป็นภาพจิตรกรรมยุครอยต่อระหว่างสยามเก่ากับสยามใหม่

 

มีสถาปัตยกรรม 2 สิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าวัดทองบางพลัดสร้างขึ้นตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา และได้รับการทำนุบำรุงต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์สืบต่อมา คือ เจดีย์ 2 องค์ที่ตั้งอยู่บนลานระหว่างอุโบสถกับวิหาร องค์หนึ่งเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองตั้งอยู่บนฐานสูง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเป็นเจดีย์ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ประมาณสมัยรัชกาลที่ 3 มีรูปแบบสัดส่วนที่งดงามมาก สามารถใช้เป็นตัวอย่างเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองในการสอนวิชางานช่างหรือประวัติศาสตร์ศิลป์ของไทยได้เป็นอย่างดี

 

เจดีย์อีกองค์ขนาดย่อมลงมา มีทรวดทรงสวยงามเช่นกัน เป็นเจดีย์ทรงลังกามีลักษณะคล้ายระฆังกลม ซึ่งเป็นลักษณะนิยมของเจดีย์ในสมัยสุโขทัยจนถึงสมัยอยุธยาตอนต้น มาได้รับการบูรณะอีกครั้งในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ 4

 

วัดบางยี่ขัน มีลักษณะสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาตอนกลาง ยังคงหลงเหลือภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็นฝีมือของช่างเขียนสมัยอยุธยาตอนปลาย แต่มีการเขียนซ่อมและเขียนเพิ่มเติมในสมัยต้นรัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ 3 แต่ยังคงขนบการเขียนภาพในลักษณะจิตรกรรมสมัยอยุธยา

 

ผนังเหนือช่องประตูหน้าต่างด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องไตรภูมิ ด้านหน้าพระประธานเขียนเรื่องมารผจญ เป็นภาพที่เขียนได้ปราณีตงดงามมาก ทั้งภาพกองทัพมาร ภาพก่อนและหลังเหตุน้ำท่วม ภาพพระพุทธเจ้าประทับบนพุทธบัลลังก์และพระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งภาพมารผจญของวัดบางยี่ขันได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบที่สวยงามของภาพมารผจญในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ 

 

ด้านข้างพระประธานเหนือช่องหน้าต่างเขียนภาพเทพชุมนุม ซึ่งงดงามไม่น้อยกว่าภาพเทพชุมนุมในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ที่พระราชวังบวรสถานมงคล ระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเรื่องพุทธประวัติจากคัมภีร์ปฐมสมโภชและเรื่องทศชาติชาดก ซึ่งมีภาพที่น่าสนใจและวาดได้อย่างปราณีตปรากฏอยู่ 2 ภาพ ได้แก่

 

ภาพสุวรรณสามชาดก เขียนในตอนที่ท้าวกบิณยักษ์เสด็จประพาสป่าแล้วยิงลูกศรไปโดนพระสุวรรณสามซึ่งบวชเป็นฤาษีล้มลงเสียชีวิต เป็นภาพซึ่งให้ทั้งลีลาและอารมณ์ของภาพ ตลอดจนการใช้สีที่ทำให้ตัวละครทั้ง 2 ตัว คือท้าวกบิณยักษ์และพระสุวรรณสามโดดเด่นขึ้นมาท่ามกลางฉากในป่า

 

อีกภาพหนึ่งเขียนเรื่องพระเตมีย์ใบ้ซึ่งเป็นชาดกเรื่องแรกในทศชาติชาดก เป็นภาพพระเตมีย์กำลังยกราชรถกวัดแกว่งไปมาซึ่ง จิตรกรได้ใช้จินตนาการอย่างมากและลงสีไว้อย่างงดงาม 

 

ภาพจิตรกรรมสำคัญอีกภาพหนึ่งของวัดบางยี่ขัน คือภาพเหตุการณ์การถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ซึ่งเป็นเหตุให้กษัตริย์หลายพระนครยกทัพมาทำสงครามเผื่อแย่งพระบรมสารีริกธาตุ ฉากของการทำสงครามเขียนได้อย่างปราณีตมีความละเอียดละออมาก สะท้อนให้เห็นถึงความโกลาหลวุ่นวายในภาวะสงครามให้อารมณ์ของความดุเดือด