วัดพระแก้ววังหน้า

วันที่ออกอากาศ: 7 กันยายน 2557
วิทยากร: ดินาร์ บุญธรรม
ผู้ดำเนินรายการ: วราภรณ์ จิวชัยศักดิ์

 

 

วัดบวรสถานสุทธาวาส เป็นโบราณสถานสำคัญสมัยรัตนโกสินทร์ มีชื่อเรียกเป็นสามัญว่า "วัดพระแก้ววังหน้า" หลายคนอาจจะไม่ทราบว่าวัดพระแก้วไม่ได้มีเฉพาะแต่ในวังหลวง ซึ่งหมายถึงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในส่วนของวัดพระแก้วของวังหน้าเป็นวัดประจำพระราชวังบวรสถานมงคล หรือ วังหน้า ซึ่งเป็นที่ประทับสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช แต่เดิมถือเป็นตำแหน่งสำคัญในราชสำนักมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

 

ในรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระองค์เจ้าอรุโณทัย พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระปิตุลาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ ทรงมีบทบาทอย่างมากในการบูรณะปฏิสังขรณ์และก่อสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ในพระราชวังบวรสถานมงคล รวมถึงการก่อสร้างวัดพระแก้ววังหน้าให้เป็นวัดประจำพระราชวัง

 

ในปีแรกที่ทรงรับสถาปนากรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพ มีพระราชประสงค์ให้สร้างวัดเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาโดยสร้างเพียงพระอุโบสถหลังใหญ่บริเวณพื้นที่ที่เคยเป็นวัดหลวงนางชีในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เดิมมีพระราชดำริจะสร้างเป็นทรงปราสาท คือมีจตุรมุขและยอดปราสาท แต่เมื่อกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคัดค้านด้วยเห็นว่าการสร้างปราสาททำได้เฉพาะในวังหลวงเพื่อเป็นการแสดงฐานานุศักดิ์ของพระมหากษัตริย์ จึงลดรูปแบบเป็นพระอุโบสถทรงจตุรมุข สร้างขึ้นบนฐานไพทีสูงอยู่พอสมควร

 

เนื่องจากเป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ทำใช้การสร้างใช้เวลานาน รวมทั้งได้สร้างด้วยความปราณีตและใช้วัสดุอย่างดี ตัวอย่างเช่นฐานไพทีและบันไดที่รองรับพระอุโบสถ รวมถึงผนังภายนอกพระอุโบสถก็กรุด้วยหินอ่อนสีเทา ภายในพระอุโบสถมีความโอ่โถงมาก ทรงตั้งพระทัยที่จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานเป็นพระประธาน แต่เสด็จทิวงคตเสียก่อนในปี 2375

 

พระทายาทของพระองค์คือพระองค์เจ้าดาราวดี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ในการก่อสร้างพระอุโบสถของวัดบวรสถานสุทธาวาสจนสำเร็จ ประดิษฐานพระธานเป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพโปรดให้หล่อเป็นพระพุทธรูปปางประจำพระชนมวารไว้ รวมถึงการตกแต่งด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังซึ่้งเป็นถือชิ้นงานศิลปะที่โดดเด่น

 

ปัจจุบัน พระราชวังบวรสถานมงคล กลายเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ซึ่งมีการแบ่งอาณาเขตเป็นส่วนต่างๆ เพื่อใช้เป็นสถานที่่ราชการ ในส่วนของวัดบวรสถานสุทธาวาสอยู่ในเขตวิทยาลัยนาฏศิลป์ เดิมไม่ได้เปิดให้เยี่ยมชมโดยทั่วไป เนื่องจากอยู่ในเขตสถานศึกษา แต่ปัจจุบันกรมศิลปากรได้เผยแพร่ความก้าวหน้าของการสำรวจพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในบริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล รวมถึงการเข้าไปบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบวรสถานสุทธาวาส ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้สนใจเข้ามาเยี่ยมชมศึกษา

 

วัดบวรสถานสุทธาวาสได้รับการบูรณะภายนอกพระอุโบสถแล้ว คงเหลือการบูรณะภาพภาพจิตรกรรมฝาผนังแต่สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ ภาพจิตรกรรมฝาผนังมีอยู่เต็มพื้นที่ทั้ง 4 มุข ของพระอุโบสถ เป็นจิตรกรรมฝาผนังระหว่างรัชกาลที่ 3-4 ประกอบด้วยเรื่องราวหลักๆ ได้แก่ เรื่องพระพุทธสิหิงค์ เรื่องประวัติอดีตพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ซึ่งอุบัติขึ้นก่อนพระพุทธเจ้าศากยมุนีตามคัมภีร์ของพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ บนบานประตูและหน้าต่างก็มีภาพเกี่ยวกับตำนานเทพเจ้าในศาสนาพราหม รวมถึงเรื่องราวของอมนุษย์ซึ่งเป็นอวตารของพระนารายณ์ในคัมภีร์ไวศนพ